สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 3,709 ราย เมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.) ซึ่งทวีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล หลังจากนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ตัดสินใจให้โรงพยาบาลรับรักษาผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น
จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ เฉลี่ยช่วง 7 วันของกรุงโตเกียวอยู่ที่เฉลี่ย 3,337.4 รายต่อวัน พุ่งขึ้น 89.3% จากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยใหม่รายวันสูงเกิน 3,000 ราย ติดต่อกัน 5 วัน และลดลงอยู่ที่ 2,195 ราย เมื่อวันจันทร์ (2 ส.ค.) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรุงโตเกียวอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. โดยยอดผู้ป่วยรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้ง่าย
ก่อนหน้านี้รัฐบาลกลางญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกคนควรเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการไอเพียงเล็กน้อย ก่อนจะปรับนโยบายใหม่ในวันจันทร์ (2 ส.ค.) โดยกำหนดว่าผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น จึงจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้
ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการหายใจหรือปอดบวมอาจต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ขณะที่แพทย์บางส่วนวิจารณ์ว่าการตัดสินใจนี้ไร้ความรับผิดชอบ เนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายกะทันหันจะทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้านรวม 84 ราย ในระยะ 6 เดือนเมื่อนับถึงเดือนมิ.ย.
โคจิ วาดะ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนานาชาติด้านสุขภาพและสวัสดิการ กล่าวว่า ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านนับตั้งแต่ระบบการแพทย์แบกรับภาระหนักจากยอดผู้ป่วยที่พุ่งสูง และควรดำเนินมาตรการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมหากพวกเขาอาการทรุดหนัก
ด้านโทโมะ คิมูระ แพทย์ที่ให้บริการตรวจรักษาถึงบ้านในเขตกรุงโตเกียว กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่คลินิกจะตรวจผู้ป่วยทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ เนื่องจากขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และกำลังคน
นายคิมูระกล่าวว่า "รัฐบาลมีเวลาเหลือเฟือที่จะดำเนินมาตรการรับมือ เช่น จัดเตรียมสถานที่รักษาตัวเพิ่ม แต่พวกเขาไม่ได้ทำ ผมคิดว่าผมจะช่วยอะไรได้บ้างในฐานะแพทย์ แต่การโยนภาระมาให้กะทันหันเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ"