การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เกิดขึ้นหลายระลอกจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์นั้นได้แพร่ระบาดข้ามพรมแดนและปรากฏอยู่ในสัตว์ด้วย
นิวส์ เมดิคัล (News Medical) ศูนย์ข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้เผยแพร่บทความที่ระบุว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียมีลักษณะเป็นเส้นกราฟรูประฆังคว่ำ ส่วนในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกก็มีการติดเชื้อลักษณะเดียวกัน แต่มีจุดสูงสุดของเส้นกราฟ 1-2 จุด
ทั้งนี้ บทความดังกล่าวอ้างอิงผลการศึกษาจากเมดอาร์เอ็กซ์ไอวี (medRxiv) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่เอกสารทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ระบุว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ (globalization) และโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ (zoonosis) ยังมีบทบาทต่อการอุบัติและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ด้วย
ข้อมูลยังระบุว่า กลุ่มประเทศที่แยกตัวโดดเดี่ยวไม่ว่าทางภูมิศาสตร์หรือทางการเมือง เผชิญการระบาดเพียงหนึ่งครั้ง (episode) และมีลักษณะเส้นกราฟระฆังคว่ำเพียงอันเดียว แตกต่างจากยุโรปและสหรัฐที่พบการระบาดหลายครั้งต่อเนื่อง โดยมีความเกี่ยวพันกับเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกจากนี้ การระบาดของโรคในสัตว์ (epizootics) ระหว่างสัตว์ด้วยกันยังไม่ได้รับการพิจารณาเป็นปัจจัยในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์, ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ ขณะที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ตัวมิงก์มีส่วนสำคัญในการขยายขอบเขตของโรคโควิด-19
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้เขียนบทความดังกล่าวจึงสรุปว่า การควบคุมพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพและการตรวจตราฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นประจำอาจช่วยลดการอุบัติของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการระบาดระลอกใหม่ได้