สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กระตุ้นนานาประเทศให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่บุคลากรการแพทย์ หลังจากข้อมูลการวิจัยใหม่ประเมินว่า บุคลากรเหล่านี้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รวม 115,000 รายระหว่างเดือนมกราคม 2563 จนถึงพฤษภาคม 2564
เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ต.ค.) ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO แถลงข่าวว่า แม้ข้อมูลจาก 119 ประเทศบ่งชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว 2 ใน 5 ของบุคลากรการแพทย์ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสแล้ว แต่ยังคงมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ระหว่างภูมิภาคและกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ
ข้อมูลของ WHO ระบุว่า จำนวนบุคลากรการแพทย์ในแอฟริกาที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสนั้น ต่ำกว่า 1 ใน 10 ขณะที่บุคลากรการแพทย์ของกลุ่มประเทศรายได้สูงสุดฉีดวัคซีนครบโดสมากกว่า 80% แล้ว
สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (ICN) ระบุว่า WHO ได้รับแจ้งจากรัฐบาลแต่ละประเทศว่ามีบุคลากรการแพทย์เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำกว่า 7,000 รายในช่วงเวลาราวปีครึ่งข้างต้น ทว่า WHO และ ICN วิเคราะห์ข้อมูลและประเมินว่ามีบุคลากรเสียชีวิตราว 115,000 รายทั่วโลก ซึ่ง ICN ชี้ว่าเป็นการประเมินขั้นต่ำ
"เสาหลักของทุกระบบสาธารณสุขคือตัวบุคลากร พวกเขาเป็นผู้ให้บริการที่เราต้องพึ่งพาอาศัย การระบาดใหญ่เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเราต้องพึ่งพาบุคลากรการแพทย์มากเพียงใด และเราเปราะบางแค่ไหนเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการปกป้อง" ดร.ทีโดรสกล่าว
เพื่อปกป้องบุคลากรการแพทย์ทั่วโลก WHO และพันธมิตรเรียกร้องทุกประเทศพัฒนาการเฝ้าติดตามและการรายงานจำนวนบุคลากรที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพื่อรับรองความปลอดภัยของพวกเขา และสร้างภาวะการทำงานที่ดี ตลอดจนมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับพวกเขาเป็นกลุ่มแรก ๆ
ดร.ทีโดรสให้คำมั่นว่าจะผลักดันกลุ่มประเทศ G20 ให้บรรลุพันธกิจด้านการแบ่งปันวัคซีนโดยทันทีระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี โดยประเทศเหล่านี้จะต้องให้ความสำคัญกับข้อตกลงด้านวัคซีนกับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนระหว่างประเทศของ WHO รวมถึงกับพันธมิตร
ขณะเดียวกันดร.ทีโดรสกล่าวกระตุ้นกลุ่มประเทศข้างต้นให้แบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี ใบอนุญาต พร้อมยกเว้นการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย