วิจัยชี้น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากฟุกุชิมะ กระทบทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกใน 10 ปี

ข่าวต่างประเทศ Friday December 3, 2021 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้ร่างแบบจำลองคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น โดยบ่งชี้ว่า น้ำที่ปนเปื้อนอาจแพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกภายใน 10 ปี หากมีการปล่อยลงสู่ทะเล

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารเนเชอรัล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) ซึ่งมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบพบว่า สารพิษจะกระจายครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกแทบทั้งหมดภายใน 3,600 วัน หลังจากการปล่อยน้ำปนเปื้อน

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2566

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัวของจีนซึ่งนำโดยจาง เจี้ยนหมินและหู เจิ้นจง ได้จำลองกระบวนการแพร่กระจายของธาตุกัมมันตรังสี และพบว่าสารพิษในน้ำที่ปนเปื้อนอาจส่งผลกระทบต่อชายฝั่งของจีนภายใน 240 วัน หลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเล

ผลการศึกษาระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะกระจายไปเกือบทั่วภูมิภาคแปซิฟิกเหนือภายใน 1,200 วัน ก่อนจะกระจายไปทางทิศใต้สู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ธาตุกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดความกังวลใกล้กับอเมริกาเหนือในท้ายที่สุด โดยจะปนเปื้อนบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอย่างเห็นได้ชัดภายใน 2,400 วัน

ทั้งนี้ จีนได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของญี่ปุ่นสำหรับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ พร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นใช้แนวทางที่เปิดกว้าง โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ เพื่อจัดการกับน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ