รายงานระบุว่า ระบบตรวจสอบระยะไกลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีในระบบการดูแลสุขภาพของภูมิภาคถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.35 แสนล้านบาท) ภายในปี 2573 ผ่านการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง รวมทั้งการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและขั้นตอนการรักษาที่สั้นลง ขณะการวิเคราะห์เพื่อกำกับการรักษาทางการแพทย์อย่างตรงจุดในคนกลุ่มเสี่ยง สามารถช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาคราว 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.53 แสนล้านบาท) ภายในปี 2573
ขณะเดียวกันการใช้สารพัดเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้เฉพาะบุคคลและทางไกล และการจับคู่ตำแหน่งงาน สามารถสร้างเงินราว 7.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.75 ล้านล้านบาท) ต่อปี ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอนุภูมิภาคภายในปี 2573
เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าขนาดเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเพิ่มเป็น 3 เท่า แตะที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.7 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2562
ราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารฯ กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของคลังข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการให้บริการสาธารณะที่สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
"เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับเหล่าผู้กำหนดนโยบายทั่วอนุภูมิภาคที่จะช่วยปูทางแก่การประยุกต์ใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ ตั้งแต่การกำกับดูแลเชิงยุทธศาสตร์จนถึงการสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล" สุบรามาเนียมกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานกระตุ้นเตือนว่าการปลดปล่อยศักยภาพของคลังข้อมูลขนาดใหญ่ในด้านบริการสาธารณะ ต้องอาศัยการวางรากฐานทางยุทธศาสตร์และเทคนิคจากรัฐบาลหลายประเทศ เพื่อใช้โอกาสจากคลังข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเต็มที่และลดทอนความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การฉ้อโกง และความมั่นคงทางไซเบอร์