มูลค่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.82 หมื่นล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.68 หมื่นล้านบาท) เป็น 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.44 หมื่นล้านบาท) ตามที่ฟอร์ดประกาศเมื่อเดือนก่อน แต่ลดลงจาก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.13 แสนล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฟอร์ดคาดการณ์ว่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ราว 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.35 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นราว 15%
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานในไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.44 แสนล้านบาท) และกระแสเงินสดอิสระอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งสะท้อนการมีหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดอันแข็งแกร่ง โดยฟอร์ดปิดไตรมาส 3 ด้วยเงินสดและสภาพคล่อง มูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.21 ล้านล้านบาท) และ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.85 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ
ขณะเดียวกันฟอร์ดมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.93 หมื่นล้านบาท) และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) อยู่ที่ 5% ในอเมริกาเหนือ ซึ่งต่างลดลงมาจากปีก่อน ทว่าฟอร์ดมีภาวะขาดทุนในจีน ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า
เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) หรือจีเอ็ม เผยแพร่รายงานการเงินประจำไตรมาส 3 เมื่อวันอังคาร (25 ต.ค.) ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด โดยรายได้สุทธิอยู่ที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.25 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.10 หมื่นล้านบาท) ในไตรมาส 3 ของปีก่อน
ขณะรายได้รวมของเจเนอรัล มอเตอร์ส ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.59 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 7.9% กำไรก่อนหักภาษีของจีเอ็ม อเมริกาเหนือ รวมอยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.48 แสนล้านบาท) และกำไรก่อนหักภาษีของจีเอ็ม อินเตอร์เนชันแนล อยู่ที่ 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.26 หมื่นล้านบาท)