สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (22 ธ.ค.) ญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะอนุญาตการยืดอายุใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกินข้อจำกัดปัจจุบันที่ 60 ปี และก่อสร้างโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะปลดระวาง ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายด้านนิวเคลียร์ของประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติดังกล่าวในระหว่างการประชุมเพื่อบรรลุการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยคาดว่าจะทำการอนุมัติมตินี้ช่วงต้นปี 2566
หลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในเดือนมี.ค. 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืนไม่พิจารณาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ หรือทดแทนเครื่องที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ดี นโยบายพื้นฐานใหม่ของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสีเขียวซึ่งครอบคลุมนโยบายนิวเคลียร์ใหม่ระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนจะถูก "นำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ"
นอกจากนั้น รัฐบาลวางแผนระดมทุนประมาณ 20 ล้านล้านเยน (ราว 5.25 ล้านล้านบาท) ผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อการปฏิรูปสีเขียว เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 150 ล้านล้านเยน (ราว 39.4 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด