ศุลกากรเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (13 มิ.ย.) ว่า ท่าเรือเซี่ยงไฮ้รองรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 3.26 แสนล้านหยวน (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบปีต่อปี
สถิติดังกล่าวฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดียวกับในปี 2021 และครองสัดส่วนกว่า40% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของการบริโภคในตลาดจีน โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงผลไม้แห้งและผลไม้สด มีมูลค่า 1.09 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.29 หมื่นล้านบาท) และ 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.85 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 41.9% และ28.7% เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ
ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง สนามบินขนส่งสินค้าแห่งสำคัญของจีน รองรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้าช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. จำนวน 22,000 ตัน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าเมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีการนำเข้าจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, อินเดีย, ปากีสถาน และไทย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลผลิตการเกษตรจำนวนมากขึ้น เช่น ผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียน ได้หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจีนนับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ท่าเรือว่ายเกาเฉียวของเซี่ยงไฮ้รองรับผลไม้ 488,000 ตันที่นำเข้ามาจากอาเซียน มูลค่ารวม 976 ล้านหยวน (ราว 4.71 พันล้านบาท)