สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (14 ก.ค.) นายหวัง อี้ นักการทูตอาวุโสของจีนได้ผลักดันข้อเสนอ 3 ประการ เพื่อการคุ้มครองความมั่นคงและเสถียรภาพในเอเชียแปซิฟิก
นายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของจีน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ARF) กล่าวว่า ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 30 ปี การจัดตั้งความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายหวังกล่าวว่า การประชุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลไกความมั่นคงที่มีความครอบคลุมกว้างที่สุดในภูมิภาคฯ ได้ดำเนินการเจรจาและความร่วมมือ และมีส่วนส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
จีนจึงยินดีที่จะนำเสนอข้อเสนอเพื่อรักษาภูมิทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ปลอดภัยและมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ประการที่ 1 ยึดมั่นการเปิดกว้างและความครอบคลุม และส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน โดยหวังเรียกร้องการคำนึงถึงปณิธานและผลประโยชน์ของทุกฝ่าย และก้าวเดินบนวิถีทางของความมั่นคงร่วมกันผ่านการปรึกษาหารือเป็นวงกว้าง การร่วมมีส่วนส่งเสริม และผลประโยชน์ร่วมกัน
นายหวังกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ต้องการการแข่งขันทางอาวุธ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของกลุ่มต่าง ๆ พร้อมกับแสดงการคัดค้านอย่างแข็งกร้าวกับสิ่งที่เรียกว่า "นาโตฉบับเอเชียแปซิฟิก" (Asia-Pacific version of NATO)
ประการที่ 2 คุ้มครองกฎระเบียบระดับภูมิภาคและส่งเสริมความมั่นคงสากล โดยหวังกล่าวว่าสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์และหลักการที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ และจิตวิญญาณบันดุง ถือเป็นบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค พร้อมกับเรียกร้องกลุ่มประเทศในภูมิภาคดำเนินการตามสนธิสัญญาฯ และปฏิบัติตามหลักพหุภาคีที่แท้จริงอย่างจริงจัง
ประการที่ 3 กระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและบรรลุความมั่นคงเชิงร่วมมือ โดยหวังแนะนำกลุ่มประเทศในภูมิภาคใช้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่ออัดฉีดพลังใหม่ๆ สู่มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกันในหลากหลายด้าน พร้อมกับเรียกร้องความร่วมมือในประเด็นอ่อนไหวน้อย และความพยายามส่งเสริมผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน เพื่อเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันในด้านความมั่นคง