เอนดิง โลนลิเนส ทูเกตเธอร์ (Ending Loneliness Together) แนวร่วมระดับชาติของกลุ่มองค์กรด้านการวิจัยและการสนับสนุน เผยแพร่รายงานสเตต ออฟ เดอะ เนชัน รีพอร์ต (State of the Nation Report) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมฉบับแรก ซึ่งเผยผลการศึกษาครั้งสำคัญที่ค้นพบว่าชาวออสเตรเลียเกือบ 1 ใน 3 รู้สึกโดดเดี่ยว
ผลการสำรวจผู้ที่มีอายุ 18-92 ปี มากกว่า 4,000 ราย พบว่าผู้หญิงออสเตรเลีย 32% และผู้ชายออสเตรเลีย 31% มีความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยผู้มีอายุ 18-24 ปีมีแนวโน้มรู้สึกโดดเดี่ยวบ่อยครั้งหรือตลอดเวลามากที่สุด ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่มากกว่าผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไปถึง 4 เท่า
ส่วนผู้คนในเขตชนบทมีแนวโน้มรู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าผู้คนในเขตเมืองใหญ่เล็กน้อย โดยรายงานพบว่าชาวออสเตรเลียที่มีความรู้สึกโดดเดี่ยวมักทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อยกว่า มีผลิตภาพ (productive) ในการทำงานน้อยกว่า และมีแนวโน้มเสพติดโซเชียลมีเดียมากกว่า
ชาวออสเตรเลียที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้น 4.6 เท่า และมีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรัง (Chronic disease) มากกว่าประชากรส่วนที่เหลือถึง 2 เท่า
มิเชล ลิม ประธานของเอนดิง โลนลิเนส ทูเกตเธอร์ กล่าวในรายงานว่าความโดดเดี่ยวเป็นประเด็นสำคัญในยุคของเรา และได้รับการยอมรับให้มีความสำคัญทางสาธารณสุขลำดับต้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากความรู้สึกนี้ก่อตัวขึ้นอย่างมั่นคง ทว่าความตระหนักรู้และการลงมือจัดการของสังคมกลับยังอยู่ในระดับต่ำ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ตรงกับช่วงเริ่มต้นสัปดาห์แห่งการตระหนักรู้ถึงความโดดเดี่ยวครั้งแรกของออสเตรเลีย (Loneliness Awareness Week)
นางลิมชี้ว่า ความโดดเดี่ยวไม่ควรถูกมองเป็นสัญญาณความอ่อนแอหรือจุดด้อย ความรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นสัญญาณที่มีแต่กำเนิดเพื่อให้เรารับรู้และตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์สำหรับความสัมพันธ์ ซึ่งการทำความเข้าใจประเด็นนี้ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างออสเตรเลียที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น
รายงานยังระบุด้วยว่า ผู้คนที่มีความรู้สึกโดดเดี่ยว 39% อาศัยอยู่ในชุมชนด้อยโอกาสที่สุดของออสเตรเลีย เมื่อเทียบกับคนรู้สึกโดดเดี่ยว 28% ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนด้อยโอกาสน้อยที่สุด นอกจากนั้นผู้คน 1 ใน 3 เผยว่าพวกเขารู้สึกอับอายกับการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และ 58% กล่าวว่า พวกเขาหลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงประเด็นนี้