สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (28 ส.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานผลสำรวจล่าสุดที่พบว่า มุมมองเรื่องการแต่งงานของคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากอุปสรรคความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
รายงานระบุว่า สัดส่วนของผู้มีอายุ 19-34 ปีที่ตอบว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อการแต่งงานอยู่ที่ 36.4% ของทั้งหมดในปี 2565 ซึ่งลดลงจาก 56.5% ของช่วง 10 ปีก่อน โดยสัดส่วนของหญิงสาวที่มีมุมมองเชิงบวกต่อการแต่งงานอยู่ที่เพียง 28% ของทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่า 43.8% ของฝั่งชายหนุ่ม
เมื่อถูกถามว่า "ทำไมถึงไม่แต่งงาน?" ผู้ตอบแบบสอบถาม 33.7% เลือกการขาดแคลนเงินทุนสำหรับการแต่งงาน, 17.3% เลือกการแต่งงานไม่ใช่สิ่งจำเป็น ขณะที่ 11% เลือกภาระทางเศรษฐกิจของการคลอดและเลี้ยงลูก และ 10.2% เลือกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
ด้านอัตราการเจริญพันธุ์ทั้งหมดของเกาหลีใต้ ซึ่งหมายถึงจำนวนทารกโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งอาจให้กำเนิดในช่วงชีวิต แตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.78 ในปี 2565 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในหมู่สมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นับตั้งแต่ปี 2556
คนหนุ่มสาวจำนวนมากยอมแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานและไม่มีลูกด้วยเหตุผลจากอุปสรรคความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ราคาที่อยู่อาศัย ค่าเลี้ยงดูลูก และการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่ล้วนพุ่งสูง รวมถึงมุมมองต่อการแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคม
ทั้งนี้ สัดส่วนของหนุ่มสาวที่บอกว่าคู่รักสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องแต่งงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 61.8% ในปี 2555 อยู่ที่ 80.9% ในปี 2565 ขณะสัดส่วนของหนุ่มสาวที่บอกว่าอาจจะมีลูกโดยไม่ได้แต่งงานเพิ่มขึ้นจาก 29.8% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 39.6% ในปี 2565
อนึ่ง สถิติตัวเลขเหล่านี้อ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 13 ปีขึ้นไป ประมาณ 36,000 คน ตลอดระยะเวลา 16 วันในเดือนพ.ค.ปีก่อน