รายงานจากการประชุมเอเชีย โป๋อ๋าว (BFA) ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นกุญแจสำคัญสู่การเปิดรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวและบรรลุการพัฒนาสีเขียวในเอเชีย
รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานประจำปีของเอเชียและโลกปี 2567 ? การก้าวกระโดดสู่ยุคไฟฟ้า คาร์บอนเป็นศูนย์ และการสนับสนุนการพัฒนาสีเขียวในเอเชีย" โดยระบุว่าพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ อาทิ การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานไฟฟ้าของภาคส่วนปลายทางจะก่อให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ และสร้างโอกาสการทำงานจำนวนมาก
รายงานอ้างอิงการคาดการณ์จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา โดยระบุว่า ตลาดโลกสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, ไฮโดรเจนสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียวอื่น คาดว่าจะมีมูลค่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 76.36 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 ซึ่งมากกว่าขนาดตลาดปัจจุบันถึง 5 เท่า
ระบบพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นรากฐานสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย การออกแบบกลไกตลาด และการมีส่วนร่วมร่วมกันของทั้งสังคม
รายงานเปิดเผยว่า กลไกการกำหนดราคาไฟฟ้าโดยยึดตามตลาด สามารถอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วยการกระตุ้นการลงทุน การพัฒนา และการบริโภคด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเอเชียมีศักยภาพในการสร้างระบบพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ เนื่องจากมีความต้องการใช้พลังงานมหาศาล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และกลุ่มประเทศในเอเชียแห่งอื่นถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการลงทุนด้านพลังงานสะอาดระดับโลก และกลายเป็นตัวเร่งการลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลก
อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในเอเชียจำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีสีเขียวและอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำอย่างเร่งด่วน