วารสารไซแอนซ์ (Science) เผยแพร่ผลการค้นพบจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีน ซึ่งระบุว่า ความผิดปกติของอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดียอาจช่วยทำนายขนาดการระบาดของโรคไข้เลือดออกทั่วโลก โดยตัวบ่งชี้ด้านสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มความสามารถคาดการณ์และวางแผนรับมือการระบาดของโรคดังกล่าว
รายงานระบุว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฟลาวิโดยมียุงเป็นพาหะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ขณะเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) มีอิทธิพลต่อพลวัตการระบาดของไข้เลือดออกทั่วโลก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของยุง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยครูปักกิ่งใช้แบบจำลองกลไกสภาพภูมิอากาศและข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจาก 46 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกามาจำแนกความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบสภาพภูมิอากาศโลกกับขนาดการระบาดตามฤดูกาลและรายปีของโรคไข้เลือดออกทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
ผลการศึกษาพบว่า แบบจำลองข้างต้นสามารถแจ้งเตือนการระบาดของโรคไข้เลือดออกล่วงหน้าโดยมีช่วงเวลานำ (lead time) นานถึง 9 เดือน ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญเมื่อเทียบกับแบบจำลองก่อนหน้านี้ที่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าเพียง 3 เดือนเท่านั้น
เถียนหวายอวี่ ผู้เขียนรายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจช่วยวางแผนรับมือกับการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จำเป็นต้องมีการประเมินเพิ่มเติมเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำนายของแบบจำลองดังกล่าว