สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) พัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับจำแนกเนื้องอกสมองอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (17 พ.ค.) ระบุว่า โมเดลการเรียนรู้เชิงลึกของทีมนักวิจัยที่ชื่อว่าดีพลอย (DEPLOY) สามารถจำแนกเนื้องอกสมองออกเป็น 10 ชนิดย่อยที่สำคัญได้อย่างแม่นยำ โดยวิเคราะห์ภาพเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วยที่บันทึกจากกล้องจุลทรรศน์เพื่อทำการจำแนกประเภท
ดานห์-ไท ฮว่าง หนึ่งในหัวหน้าโครงการจากสถาบันวิทยาศาสตร์ข้อมูลทางชีวภาพ สังกัดมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า มาตรฐานการวินิจฉัยและจำแนกเนื้องอกในสมองที่ดีที่สุดตอนนี้คือการเก็บข้อมูลจากกระบวนการดีเอ็นเอเมทิลเลชั่น (DNA methylation) ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์และไม่สามารถใช้ได้ในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี การศึกษาระบุว่าเครื่องมือเอไอสามารถให้ผลลัพธ์ได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับขั้นตอนการวินิจฉัยแบบดั้งเดิม
ฮว่างกล่าวว่า ดีพลอยมีความแม่นยำถึง 95% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถวินิจฉัยตัวอย่างชุดย่อยที่ค่อนข้างยากต่อการจำแนกจำนวน 309 ตัวอย่าง ได้มากกว่าข้อมูลที่พยาธิแพทย์ให้ไว้ในเบื้องต้น
ดีพลอยถูกฝึกฝนและตรวจสอบโดยใช้ชุดข้อมูลผู้ป่วยประมาณ 4,000 รายจากสหรัฐและยุโรป โดยในอนาคตอาจถูกนำไปใช้สนับสนุนการวินิจฉัยเบื้องต้นของพยาธิแพทย์ หรือทำการประเมินซ้ำหากพบความแตกต่าง
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยเชื่อว่า ในอนาคตเครื่องมือเอไอดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยจำแนกประเภทของมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน