สถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน (CALVT) ผู้ผลิตจรวดชั้นนำของประเทศ ประกาศว่า จีนได้ทดสอบระบบขับเคลื่อน (propulsion system) ของจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 ท่อนที่ 1 จนเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มิ.ย.)
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ลองมาร์ช-10 เป็นจรวดขนส่งที่มี 3 ท่อนครึ่ง โดยจีนพัฒนาขึ้นเพื่อทำภารกิจส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งจะทำหน้าที่ขนส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมและยานลงจอดบนดวงจันทร์รุ่นใหม่ จรวดลองมาร์ช-10 มีความยาวประมาณ 92.5 เมตร น้ำหนักขณะบินขึ้น 2,189 ตัน แรงขับ (Thrust) ขณะบินขึ้น 2,678 ตัน และมีน้ำหนักบรรทุกสัมภาระสำหรับเดินทางเข้าสู่วงโคจรระหว่างโลก-ดวงจันทร์ไม่ต่ำกว่า 27 ตัน
ผู้พัฒนาจรวด ซึ่งดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน ระบุว่า จรวดอีกลำหนึ่งซึ่งแยกออกมาจากจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 ไม่มีการติดจรวดบูสเตอร์และสามารถส่งนักบินอวกาศและเสบียงไปยังสถานีอวกาศของจีนได้ จรวดลำนี้ยาวประมาณ 67 เมตร น้ำหนักขณะบินขึ้นอยู่ที่เกือบ 740 ตัน ส่วนแรงขับขณะบินขึ้นอยู่ที่ประมาณ 892 ตัน ขณะที่น้ำหนักบรรทุกสัมภาระสำหรับเดินทางเข้าสู่วงโคจรใกล้โลก (near-Earth orbit) อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ตัน
สถาบันฯ ระบุว่า ระหว่างการทดสอบเมื่อวันศุกร์ เครื่องยนต์ของระบบขับเคลื่อนเริ่มทำงานได้ตามปกติ ดำเนินไปโดยเสถียร และหยุดทำงานตามเวลาที่กำหนด รวมถึงค่าพารามิเตอร์ทั้งหมดที่มีการทดสอบก็เป็นปกติดี
การทดสอบระบบขับเคลื่อน ถือเป็นขั้นตอนการทดสอบภาคพื้นดินที่มีความซับซ้อนและยากมากที่สุดที่จะต้องทำในการพัฒนาจรวดขนส่ง โดยการทดสอบเมื่อวันศุกร์นั้นเป็นการทดสอบระบบขับเคลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ภาคการพัฒนายานพาหนะของจีนเคยดำเนินการมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เครื่องยนต์รุ่นวายเอฟ-100เค (YF-100K) จำนวน 3 เครื่องพร้อมกัน และมีแรงขับภาคพื้นดินสูงถึง 382 ตัน
สถาบันฯ กล่าวว่า หลังภารกิจทดสอบนี้เสร็จสิ้น ก็เท่ากับว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 ของจีนได้เข้าสู่ช่องทางด่วนสำหรับการทดสอบและการพัฒนาภาคพื้นดินขนานใหญ่แล้ว
ทั้งนี้ แผนงานขั้นถัดไประบุว่าจะมีการทดสอบระบบขับเคลื่อนของจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 ท่อนที่ 1 ครั้งที่ 2 ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อตรวจสอบสภาพการทำงานด้านอื่น ๆ