สำนักข่าวท้องถิ่นของญี่ปุ่นอ้างอิงข้อมูลจากทีมคณะนักวิจัยในญี่ปุ่นรายงานว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรงมาก สายพันธุ์ H5N1 อาจแพร่จากปศุสัตว์สู่มนุษย์ได้มากกว่าการแพร่จากนกสู่มนุษย์โดยตรง
คณะนักวิจัยซึ่งนำโดยโยชิฮิโระ คาวาโอกะ (Yoshihiro Kawaoka) ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมพร้อมการระบาดใหญ่ การติดเชื้อ และการวิจัยขั้นสูง (UTOPIA) สังกัดมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เผยแพร่ผลการวิจัยบนวารสารเนเจอร์ (Nature) ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา
รายงานจากสำนักข่าวท้องถิ่นญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ (10 ก.ค.) ระบุว่า ทีมวิจัยได้ใช้ตัวรับความรู้สึก (receptor) ในเซลล์ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์มาทำปฏิกิริยากับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 จากทั้งวัวและจากนก ก่อนพบว่า เชื้อไวรัสที่ได้จากวัวมีความแข็งแกร่งด้านการยึดเกาะมากกว่าเชื้อไวรัสที่ได้จากนก บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสจากวัว "แพร่สู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" มากกว่าเชื้อไวรัสจากนก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยยังยืนยันอีกว่า เชื้อไวรัสจากวัวสามารถก่อโรคในหนูและเฟอเรต (สัตว์คล้ายพังพอน) ได้สูง เมื่อเฟอเรตและหนูติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ที่ได้จากวัว เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงสมองและกล้ามเนื้อ และก่ออันตรายสูง
คาวาโอกะกล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง และควรให้ความสำคัญกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอนาคตด้วยเช่นกัน
อนึ่ง เชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 มีลักษณะเฉพาะคือมีการการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายสูงมากในหมู่นก ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2543 ส่งผลให้ไก่จำนวนมากในหลายภูมิภาคล้มตาย
สำนักข่าวรายงานอีกว่า พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดตั้งแต่ปี 2563 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ 28 ราย แต่ยังไม่มีการยืนยันกรณีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน