สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และคณะรัฐมนตรีจีนได้เปิดเผยชุดแนวปฏิบัติเพื่อยกระดับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
วัตถุประสงค์หลักคือจีนจะสร้าง "ผลลัพธ์อันโดดเด่น" ในการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในทุกด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในปี 2573 นำสู่การจัดตั้งระบบเศรษฐกิจการพัฒนาสีเขียว คาร์บอนต่ำ และหมุนเวียนในขั้นพื้นฐาน พร้อมบรรลุเป้าหมายจีนที่สวยงามในขั้นพื้นฐานภายในปี 2578
แนวปฏิบัตินี้กำหนดพันธกิจจำนวนหนึ่ง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาและคุ้มครองพื้นที่อาณาเขต การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและคาร์บอนต่ำในโครงสร้างอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในภาคการขนส่งและการพัฒนาเมือง-ชนบท
นอกจากนั้นมีการเสนอเป้าหมายการทำงานเชิงปริมาณในด้านต่างๆ โดยขนาดอุตสาหกรรมอนุรักษ์พลังงานและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศจะสูงราว 15 ล้านล้านหยวน (ราว 74 ล้านล้านบาท) สัดส่วนพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 25% ของการใช้พลังงาน และกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับจะสูงเกิน 120 ล้านกิโลวัตต์ ภายในปี 2573
ความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนในการขนส่งเชิงพาณิชย์ต่อหน่วยรายได้จะลดลงราว 9.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 และการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยเทกองรายปีจะสูงราว 4.5 พันล้านตัน โดยอัตราผลผลิตทรัพยากรหลักเพิ่มขึ้นราว 45% เมื่อเทียบกับปี 2563 ภายในปี 2573
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่ามีการออกแนวปฏิบัตินี้ขณะจีนประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำนับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2555
ตัวอย่างเช่นกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 1.653 พันล้านกิโลวัตต์ เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2567 คิดเป็น 53.8% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดภายในประเทศ ขณะการใช้พลังงานและความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 ลดลงมากกว่า 26% และ 35% เมื่อเทียบกับปี 2555
ทว่าคณะกรรมการฯ ชี้ว่าจีนยังคงเผชิญความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยโครงสร้างพลังงานยังคงเอนเอียงหาถ่านหิน รวมถึงสัดส่วนพลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมดั้งเดิมภายในประเทศยังคงสูง ขณะการเปลี่ยนผ่านสีเขียวทั่วโลกเผชิญอุปสรรค ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพิ่มขึ้น และกำแพงทางการค้าสีเขียวสูงขึ้น
แนวปฏิบัตินี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของรูปแบบการพัฒนา ส่งเสริมการสร้างจีนที่สวยงามอย่างครอบคลุมรอบด้าน และบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง
ขณะเดียวกันแนวปฏิบัตินี้เน้นย้ำการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในรูปแบบการบริโภคผ่านการกระตุ้นประชาชนแสวงหาวิถีชีวิตสีเขียวและสุขภาพดี โดยมุ่งกระตุ้นการบริโภคสีเขียวผ่านการขยายขอบเขตและขนาดการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์สีเขียวของรัฐบาล ส่งเสริมโครงการซื้อขายแลกเปลี่ยน (trade-in) เพื่อกระตุ้นการซื้อขายผลิตภัณฑ์สีเขียว และทำการตลาดด้านยานยนต์พลังงานใหม่และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคชนบท
จีนจะดำเนินนโยบายการคลังและภาษีที่เกื้อหนุนการส่งเสริมการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และจีนจะขยายระยะเวลาของการดำเนินการของเครื่องมือสนับสนุนการลดปล่อยคาร์บอนจนถึงสิ้นปี 2570 และพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินทุนสีเขียว สัญญาเช่าทางการเงินสีเขียว และกองทรัสต์สีเขียว
ด้านการลงทุนด้วยงบประมาณกลางจะมุ่งสนับสนุนโครงการสำคัญอย่างแข็งขัน และรัฐบาลจะส่งเสริมและกำกับควบคุมการมีส่วนร่วมของทุนทางสังคมในโครงการสีเขียวและปล่อยคาร์บอนต่ำ