ผลวิจัยของสหรัฐพบอาการลองโควิดในเด็ก-วัยรุ่นแตกต่างกัน

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 22, 2024 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลวิจัยของสหรัฐพบอาการลองโควิดในเด็ก-วัยรุ่นแตกต่างกัน

วารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) เผยแพร่ผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐเมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ซึ่งระบุว่า ผลกระทบระยะยาวจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือลองโควิด (Long COVID) ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี แตกต่างจากกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปี

การศึกษานี้ที่สำรวจเด็กและวัยรุ่นซึ่งมีประวัติป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่กว่า 60 แห่งทั่วสหรัฐระหว่างเดือนมี.ค. 2565 จนถึงธ.ค. 2566 จำนวน 3,860 คนพบว่า กลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มรู้สึกหมดแรง หรือเหนื่อยล้ามากที่สุด ขณะกลุ่มเด็กมีแนวโน้มปวดศีรษะมากที่สุด

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจำแนกอาการเรื้อรัง 18 อาการซึ่งมักพบในเด็กวัยเรียน เช่น ปวดศีรษะ ตามด้วยปัญหาด้านการจดจำหรือการจดจ่อ, ปัญหาการนอนหลับ และอาการเจ็บท้อง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นมักพบ 17 อาการ เช่น เหนื่อยล้าระหว่างวัน, ง่วงนอนหรือหมดแรง, ปวดตามร่างกาย, ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ, ปวดศีรษะ และปัญหาด้านการจดจำและการจดจ่อ

นายเดวิด กอฟฟ์ ผู้อำนวยการแผนกหัวใจและหลอดเลือดของสถาบันหัวใจ ปอด และเลือดแห่งชาติเปิดเผยว่า งานวิจัยส่วนใหญ่อธิบายอาการลองโควิดโดยมุ่งเน้นที่ผู้ใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดว่ามักไม่ค่อยพบอาการลองโควิดในเด็ก หรือเด็กมีอาการเหมือนของผู้ใหญ่

นายกอฟฟ์เสริมว่า อาการลองโควิดของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างหรือปรากฏในรูปแบบแตกต่างกัน หากปราศจากการอธิบายลักษณะอาการอย่างเหมาะสม ย่อมยากจะรู้วิธีปรับปรุงการดูแลเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ