อินโดนีเซียเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แห่งแรกที่จะดำเนินงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดเมื่อวันเสาร์ (14 ก.ย.) ณ นิคมอุตสาหกรรมนีโอ เอเนอร์จี โมโรวาลี ในจังหวัดสุลาเวสีกลาง
แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานประจำกระทรวงกิจการเศรษฐกิจ กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปลายน้ำด้านแร่ธาตุที่สำคัญ ซึ่งมุ่งกระตุ้นความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับสวัสดิการสาธารณะ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แอร์ลังกากล่าวว่า กระบวนการแปรรูปนิกเกิลปลายน้ำที่ประสบความสำเร็จได้เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนิกเกิลเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เป็น 3.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพด้านการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก ด้วยกำลังการผลิตต่อปีราว 210 กิกะวัตต์ชั่วโมง เนื่องจากมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะนิกเกิล
ทั้งนี้ โรงหลอมแร่ด้วยกรดแรงดันสูงของโรงงานแห่งนี้จะแปรรูปแร่นิกเกิลเป็นตะกอนไฮดรอกไซด์ผสม (MHP) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตขั้วแคโทดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตตะกอนไฮดรอกไซด์ผสมแก่ประเทศปีละ 1.2 แสนตัน
กระทรวงการลงทุนเผยว่า การลงทุนทั้งหมดในกิจกรรมปลายน้ำด้านนิกเกิล โดยเฉพาะโรงหลอมแร่และการพัฒนาโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนับถึงเดือนมิ.ย. 2567