กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ทีเส็บ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ขานรับนโยบายรัฐบาล ปฏิบัติการเชิงรุกผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ ขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 "ประกาศโมเดล EMC3 สร้าง Eastern MICE Corridor" ประเดิมดึงนักข่าวทั่วโลกร่วม International Media Familiarisation Trip (IMFT 2018) สัมผัสความพร้อมของทุกเส้นทางไมซ์ในพื้นที่ EEC มั่นใจดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในระดับภูมิภาคเข้ามาจัดงาน ชูไทยผู้นำธุรกิจไมซ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใน 10 อุตสาหกรรมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตทั้ง 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S - Curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S – Curve) ขณะเดียวกันโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EEC ซึ่งถือเป็นโครงการที่สำคัญที่สุดภายใต้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะจุดหมายด้านการค้าและการลงทุนแห่งใหม่ของอาเซียน
"การส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ EEC จึงเป็นกลยุทธ์ด้านการจัดวางตำแหน่งพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้จัดการประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้า รวมทั้งการลงทุนด้านไมซ์ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยล่าสุดได้ "กำหนดสูตรสำเร็จขับเคลื่อนไมซ์ผ่านโมเดล EMC3" ซึ่งหมายถึงการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ใน 3 พื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง (Eastern MICE Corridor) ผ่านการเชื่อมโยงทุกการพัฒนาและการตลาดแบบบูรณาการของทั้ง 3 พื้นที่ร่วมกันเพื่อให้เกิดการเดินหน้าเชิงรุกอย่างรวดเร็ว"
EMC3 คือ กลยุทธ์พัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์แห่งใหม่ของประเทศไทย โดยเป็นการบูรณาการ 3 พื้นที่ผ่าน 6 โครงการไฮไลท์ ซึ่งจะดำเนินการให้เกิดขึ้นภายในเวลา 3 ปี (2562-2565) ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาความพร้อมพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับอุตสาหกรรมไมซ์แห่งใหม่ของประเทศไทย หรือ Eastern MICE Corridor 2. โครงการส่งเสริมการดึงงาน (Bid) ประชุม สัมมนา งานแสดงนิทรรศการ และงานมหกรรมนานาชาติ (Mega Events) เข้ามาจัดในพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 (3) โครงการจัดตั้งสถาบันไมซ์แห่งอาเซียน (ASEAN MICE Institute) เพื่อเป็นศูนย์ประเมินมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ศูนย์กระจายองค์ความรู้ และศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานไมซ์ (4) โครงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ อันประกอบด้วยการทำงานสอดประสานของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา (5) โครงการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ EEC รองรับเมืองใหม่ที่กำลังเติบโต และ (6) โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการนำแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ของชุมชนมารองรับอุตสาหกรรมไมซ์ โมเดล EMC3 จะเป็นสูตรการทำงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ในฐานะเครื่องมือในการส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเน้นการสร้างประเทศไทยด้วยธุรกิจภาคบริการมากขึ้น
นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า "เพื่อเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่ EEC ในการรองรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ทีเส็บจึงจัดกิจกรรม International Media Familiarisation Trip หรือ IMFT 2018 ขึ้นโดยเชิญสื่อมวลชนจากทั่วโลก 35 ราย มาสัมผัสประสบการณ์ไมซ์ในเส้นทาง จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 5 วัน 4 คืน ในสถานที่ใหม่ๆที่มีความพร้อมในการรองรับการจัดงานไมซ์ อย่างศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุช พัทยา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา, ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ศรีราชา, ท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านกระแสบน ระยอง เกาะเสม็ด นอกจากนี้โรงแรมที่พักของสื่อมวลชนครั้งนี้ยังเลือกใช้บริการโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นคนไทย เพื่อแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการให้บริการ ความเป็นมืออาชีพ และการอำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางกลุ่มธุรกิจ และเชื่อว่าสื่อมวลชนที่ได้มาสัมผัสประสบการณ์จะนำข้อมูลต่างๆไปเผยแพร่แก่ลูกค้าไมซ์ทั่วโลก"
สำหรับในปี พ.ศ. 2561 นี้ประเทศไทยยังดึงงานไมซ์สำคัญใน 10 อุตสาหกรรมหลักภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เข้ามาจัดหลายงาน อาทิ Taiwan Expo 2018, CEBIT ASEAN Thailand 2018, Future Energy Asia 2018 และยังมีอีกหลายงานที่อยู่ระหว่างการดึงเข้ามาจัดในพื้นที่ EEC ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยตลอดปีงบประมาณ 2561 นั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการณ์ว่า ตลอดทั้งปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 นี้ จะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าสู่ประเทศไทย 1,327,000 คน สร้างรายได้กว่า 124,000 ล้านบาท และ ในปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์จะมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าสู่ประเทศไทยมากถึง 1,419,890 คน และสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจไทยสูงถึง 130,200 ล้านบาท จากการเติบโต ความพร้อมและโอกาสเหล่านี้จึงมั่นใจได้ว่าในช่วงทศวรรษต่อไปจะเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย และพื้นที่ EEC จะก้าวสู่จุดยุทธศาสตร์ไมซ์ชั้นนำของเอเชียได้อย่างแน่นอน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวปาริฉัตร เศวตเศรนี ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02 694 6000 อีเมล Parichat_s@tceb.ot.rh
นางสาวปนิยดา มุลาลินน์ ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02 694 6091 อีเมล paniyada_m@tceb.or.th