กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
"ไรฝุ่น" จัดเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด "โรคภูมิแพ้" ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เป็นโรคภูมิแพ้มากถึง 20-25% หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ โดยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "โรคแพ้อากาศ" พบได้มากที่สุด และเป็นโรคที่สร้างปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบทั้งในด้านการทำงาน การเรียน อีกทั้งยังต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
"ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช" (The Siriraj Dust Mite Center for Services and Research) ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อแก้ปัญหาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นมาเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า เป็น 1 ใน 4 หน่วยงานทั่วโลกที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับไรฝุ่นอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งสามารถผลิตไรฝุ่นในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (semi-industrial scale) เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นในการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น (mite allergen vaccine)
ปัจจุบัน ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราชฯ และทีมนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำลังรถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตไรฝุ่นและการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นไปยังภาคเอกชน เพื่อนำไปขยายขอบเขตการดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการนำเข้าน้ำยาที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ องค์ความรู้เหล่านี้นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืน และยังตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี สิ่งที่สามารถยืนยันถึงความสำเร็จและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การได้รับทะเบียนยาวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 แล้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ มาลัยนวล หัวหน้าศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราชภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์ฯ ดังกล่าวถือว่าเป็น "มิติใหม่" ของมหาวิทยาลัยที่นำผลวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่ภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราชฯ พยายามที่จะยกระดับการดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้เป็น "ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการแก้ปัญหาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น (Center hub for R&D on dust mite allergy)" โดยสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนและหน่วยงานไม่แสวงกำไรต่างๆ ที่สนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้มีคุณภาพดีขึ้น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อทำเป็นที่นอนและหมอนป้องกันไรฝุ่น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ด้วย
"การดำเนินงานอีกอย่างหนึ่งของศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราชฯ คือ การให้บริการการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกัน/กำจัดไรฝุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งภาคเอกชนและนักวิจัยที่อยากทราบประสิทธิภาพในการป้องกัน/กำจัดไรฝุ่นของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ ผ้ากันไรฝุ่น น้ำยาสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในท้องตลาดเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่เคลมว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกัน/กำจัดไรฝุ่นจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราชฯ ยังร่วมเป็นหน่วยงานเครือข่ายด้านการกำหนดมาตรฐาน กับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกัน/กำจัดไรฝุ่น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการรับรองคุณภาพสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และสังคมที่ดีอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ กล่าวทิ้งท้าย