กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ทุกวันนี้ จากการวินิจฉัยของแพทย์พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 120,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 320 คนต่อวัน และในแต่ละปี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเสียชีวิตประมาณ 80,000 รายต่อปี หรือวันละ 220 ราย คิดเป็นจำนวน 9 คนต่อชั่วโมง หากมองย้อนไปในอดีต ถ้าผลการวินิจฉัยออกมาว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ความรู้สึก ณ ตอนนั้น คงเหมือนถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจแปลกใจ หากได้ยินว่า "โรคมะเร็ง" เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะสถานวิทยามะเร็งศิริราช ซึ่งเป็นสถาบันที่รวมผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษามะเร็งของโรงพยาบาลศิริราช ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า โรคมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน หรือเกิดมะเร็งในอวัยวะเดียวกัน ก็ล้วนมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้น ระยะของโรค ผลการตอบสนองต่อการรักษา การหายขาดหรือโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมมะเร็งของแต่ละคนจึงต่างกัน
ปัจจัยสำคัญที่กำหนดความแตกต่างดังกล่าวอย่างหนึ่งคือ ลักษณะที่ต่างกันของผู้ป่วย ทั้งสีผิว เชื้อชาติ อาหารการกิน วิถีชีวิต รวมไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมของแต่ละคน และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในก้อนมะเร็งด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้โรคมะเร็งในแต่ละคนแตกต่างกันไป จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดเดียวกัน รักษาด้วยยาสูตรเดียวกันจึงมีการตอบสนองได้ไม่เท่ากัน
ด้วยเหตุนี้ สถานวิทยามะเร็งศิริราช จึงมีแนวคิดที่จะไขความลับนี้ โดยจัดตั้งโครงการ "การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง" เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของชิ้นเนื้อมะเร็งจากผู้ป่วย 2,000 ราย และสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมมะเร็งของประเทศไทย ข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งจะถูกใช้ในการวางแผนการรักษามะเร็งได้แบบเฉพาะบุคคล อีกทั้งข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวยังสามารถชี้ทางสว่างให้แก่การรักษามะเร็งบางชนิดที่ปัจจุบันผู้ป่วยมีโอกาสรอดน้อย และยังใช้เป็นฐานข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มวิจัยมะเร็งในระดับประเทศและระดับโลกได้อีกด้วย
การถอดรหัสพันธุกรรมมะเร็งนี้ใช้ทุนวิจัยสูงราว 100,000 บาทต่อราย ซึ่งในขณะนี้สถานวิทยามะเร็งฯ สามารถเก็บรวบรวมชิ้นเนื้อมะเร็งและถอดรหัสพันธุกรรมมะเร็งไปได้เพียง 100 กว่ารายเท่านั้น จึงยังต้องการชิ้นเนื้อและทุนวิจัยสนับสนุนอีกมากเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย 200 ล้านบาทสำหรับการถอดรหัสพันธุกรรม 2,000 ราย ในการนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถแจ้งความจำนงในการบริจาคชิ้นเนื้อมะเร็งสำหรับใช้ในงานวิจัยดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ทุนวิจัยเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการสนับสนุนให้โครงการดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ 200 ล้านบาท ท่านที่สนใจสามารถร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ได้ที่
บัญชี ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง (D3906)
บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ 901-7-05999-0
(สามารถขอรับใบเสร็จเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ที่ Line : @Sirirajfoundation โดยส่งหลักฐานพร้อมแจ้งรหัสกองทุน D3906)