ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังเสี่ยงตายจากโควิด-19 สูงสุด ผู้เชี่ยวชาญจุฬาฯ เตือน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 24, 2020 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสถานการณ์การระบาดอย่างร้ายแรงของโควิด-19 ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการติดเชื้อ และมีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตมากที่สุด เพราะผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว มีสภาพร่างกายเสื่อมตามวัย ภูมิต้านทานน้อยลง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตือน “ที่น่าห่วงมากที่สุดคือผู้สูงอายุที่อยู่กันตามลำพัง หรือสองคนตายาย ในกรณีแบบนี้ เพื่อนบ้านและคนในชุมชนควรช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งอาหาร น้ำ ยา และดูว่าท่านเจ็บป่วยหรือมีอาการบ่งชี้ว่าติดโควิดหรือไม่” ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปีพ.ศ.2560 พบว่า จากจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด 12 ล้านคนในประเทศไทย ประมาณร้อยละ 10.7 ของผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว และประมาณร้อยละ 20 อยู่กันตามลำพังสองคนตายาย โดยในชนบทจะมีสัดส่วนผู้ที่อยู่กันสองคนตายายสูงกว่าในเมืองเล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณร้อยละ 39 ของผู้สูงอายุไทยยังมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี โดยผู้สูงอายุในเขตชนบทมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุในเขตเมือง (ร้อยละ 44.5 เทียบกับร้อยละ 31.1) ทั้งนี้ การอาศัยอยู่เพียงลำพังหรือไม่ได้อยู่กับลูกหลาน และการมีรายได้จำกัดหรือมีฐานะยากจนล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และการดูแลตัวเองตามหลัก สุขภาวะที่ดี ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณยังแสดงออกถึงความกังวลต่อผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัด และลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ซึ่งกำลังเดินทางกลับไปภูมิลำเนา หลังคำสั่งปิด กทม.ตามที่ปรากฏเป็นข่าว “น่ากลัวมากว่าจะมีโอกาสเอาเชื้อโควิด-19 กลับไปให้ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย อยากให้คิดกันตรงนี้มากๆ คิดถึงผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ หากกลับไปแล้วสามารถกักกันตัวเอง แยกกันกินแยกกันอยู่ได้หรือไม่ในช่วง 14 วันแรก แต่จะให้ปลอดภัยที่สุด ลูกหลานไม่ควรย้ายกลับไป จำไว้เป็นคัมภีร์เลยสำหรับผู้สูงวัยว่า เสี่ยงติด เสี่ยงตาย เลี่ยงได้ ให้อยู่บ้าน” ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณเตือน ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่าการที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการสูญเสียชีวิตของประชากรสูงจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางอายุของประชากรที่เป็นประชากรสูงวัย โดยส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับอิตาลีที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเป็นที่สองรองลงมาจากญี่ปุ่น ก็สูญเสียผู้สูงวัยจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วมาก ตามประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุราว 12 ล้านคน ดังนั้นหากไม่มีการเตรียมทรัพยากรหรือมีนโยบายเพื่อมารองรับกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างทันท่วงที อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าไปอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ