อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เผยภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตโลกบั่นทอนสุขภาวะของพนักงานในปี 2567, ผลสำรวจชี้ผู้เชี่ยวชาญ 80% คาดภาวะหมดไฟส่งผลกระทบองค์กรหนัก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 13, 2024 09:48 —ThaiPR.net

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เผยภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตโลกบั่นทอนสุขภาวะของพนักงานในปี 2567, ผลสำรวจชี้ผู้เชี่ยวชาญ 80% คาดภาวะหมดไฟส่งผลกระทบองค์กรหนัก

ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตทั่วโลกมีแนวโน้มว่า จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 เนื่องจากสภาพอากาศสุดขั้วและสถานการณ์ความไม่มั่นคงที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรต่าง ๆ

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในกลุ่มพนักงานเพิ่มมากขึ้น รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2567 ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Risk Outlook Report 2024) ฉบับล่าสุด ระบุว่า 80% ของผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความเสี่ยงทั่วโลกที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า ภาวะหมดไฟจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจในปี 2567[1] แต่มีเพียง 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้เท่านั้นที่รู้สึกว่า องค์กรของตนพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

รายงานยังได้ให้ภาพรวมโดยละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงสำคัญบางประการที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญในปี 2567 รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคาดหวังของพนักงาน และปัญหาความไม่สงบทั่วโลก

คุณแซลลี ลูเวลลิน (Sally Llewellyn) ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า "องค์กรต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายในปี 2567 เนื่องจากความไม่มั่นคงยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยทั่วโลก อัตราการเกิดวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้การฝ่าฟันปัญหาขององค์กรต่าง ๆ ยากขึ้นไปอีก ทีมงานด้านการบริหารจัดการภาวะวิกฤตซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะหมดไฟในการทำหน้าที่ที่สำคัญนี้

 "การบริหารความเสี่ยงเชิงรุกจะเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจหลายคนคาดการณ์ว่าความเสี่ยงที่บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้น การเป็นพันธมิตรกับองค์กรอื่น ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เรามีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบในลำดับที่สองหรือสามที่อาจจะต้องเผชิญเมื่อพิจารณาจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือรูปแบบการเดินทาง การเตือนภัยล่วงหน้าจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ การดูแลให้เกิดความยืดหยุ่นภายในแผนกที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการภาวะวิกฤตก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ขณะที่การเพิ่มจำนวนผู้บริหารที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลในยามวิกฤต และเสริมศักยภาพให้ผู้บริหารเหล่านี้ด้วยการฝึกอบรมที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรับรองและสร้างความเชื่อมั่นว่า ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในวงกว้าง"

รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2567 ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส: การคาดการณ์ 5 อันดับแรก

หมดแรงหมดใจ - ปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตบั่นทอนจิตใจ

ในขณะที่ภาวะผันผวนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดได้เริ่มบรรเทาเบาบางลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียได้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานและบริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนและหยุดชะงักลงอีกครั้ง สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ทำให้พนักงานมีความเสี่ยงที่จะหมดไฟมากยิ่งขึ้น ผลการวิจัยพบว่า องค์กรต่าง ๆ เผชิญกับปัญหาการขาดงานเนื่องจากความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ตอบแบบสำรวจเน้นย้ำว่า ระดับความเสี่ยงที่รับรู้ได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น อยู่ที่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดย 65% เชื่อว่าความเสี่ยงทั่วโลกจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 ส่งผลให้ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการบริหารจัดการวิกฤตเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด

วิกฤตสภาพภูมิอากาศ - เมื่อภาวะโลกร้อนมาเยือน

ในช่วงระยะเวลากว่า 2,000 ปี อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงจากสภาพอากาศนั้นเกี่ยวพันกับธุรกิจทั่วโลกมากเพียงใด[2] องค์กรหนึ่งในสี่เปิดเผยว่า กิจการของตนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรายงานการแจ้งเตือน (Alerts)จากอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ในปี 2566 ชี้ว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เป็นประเภทของสถานการณ์ที่มีการแจ้งเตือนสูงเป็นอันดับสองของรายงานการแจ้งเตือนจำนวนหลายพันรายงานที่ออกโดยอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ระบุว่า ตนเองได้พิจารณาและนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาใส่ไว้ในแผนด้านสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งประเด็นนี้ ชี้ให้เห็นว่า หลายองค์กรมีความเสี่ยงมากเพียงใด และแน่นอนว่า ปัญหานี้จะไม่หมดไป โดยประมาณสามในสี่ของธุรกิจต่าง ๆ เปิดเผยว่า สภาพอากาศสุดขั้วจะเป็นอุปสรรคสำหรับพนักงานและการดำเนินธุรกิจของตนในปี 2567

เมื่อสภาพอากาศและภูมิอากาศในหลายภูมิภาคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมของความเสี่ยงด้านสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน ดร.ไอรีน ไล (Dr Irene Lai) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แสดงความเห็นว่า "เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วหลายเหตุการณ์ที่เราได้เผชิญในปี 2566 อาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในปี 2567 ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานมีความวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัดในยุโรปอาจกลายเป็นเรื่องปกติ โดยอาจจะมีคลื่นความร้อนที่ถูกตั้งชื่อมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ได้มีการตั้งชื่อคลื่นความร้อนลูกแรกกันไปแล้วในปี 2566 ว่า 'เซอร์เบอรัส' (Cerberus)

 "เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งเราได้เห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในบางภูมิภาค เช่น การระบาดของโรคมาลาเรียในพื้นที่หลายรัฐของสหรัฐในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการแพร่เชื้อมาลาเรียที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ราบสูงของแอฟริกาและแนวโน้มของโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคในยุโรป ก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังนั้นการเตรียมแผนรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับองค์กรต่าง ๆ"

ภาวะไร้เสถียรภาพทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ในปี 2566 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยที่สูงเป็นอันดับสอง  โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึงสามในสี่เชื่อว่า องค์กรของตนจะได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในอิสราเอลและฉนวนกาซา รวมถึงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในยูเครน ส่งผลให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพทั่วโลก ความไม่สงบและความระส่ำระสายในสังคมควบคู่กับความไม่มั่นคงทางการเมือง ถือเป็นหัวข้อที่สร้างความกังวลอย่างมากในระดับรองลงมาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ด้วยรูปแบบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ของเหตุการณ์เหล่านี้ ธุรกิจต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เอไอ - ความเสี่ยงและโอกาส

ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) มีศักยภาพที่น่าทึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน  เอไอกลับทำให้งานที่มีความสำคัญอย่างการแยกแยะข้อมูลที่เชื่อถือได้ออกจากข้อมูลเท็จและข้อมูลที่จงใจบิดเบือนสำหรับธุรกิจนั้น มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจงานวิจัยภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงระดับโลกมากกว่าสองในห้าระบุว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานของตนจากข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือน และตัวเลขผู้ตอบแบบสำรวจเพิ่มขึ้นเป็นสามในห้าเมื่อถูกถามเกี่ยวกับข้อมูลทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในช่วงที่สหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

สัญญาจ้างแรงงานรูปแบบใหม่

สามในสี่ขององค์กรที่ตอบรับการสำรวจเปิดเผยว่า พนักงานมีความคาดหวังมากขึ้นว่าจะได้รับการดูแลจากบริษัท (Duty of Care) ตัวเลขดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงองค์กรที่ปัจจุบันแบกรับหน้าที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เช่น สองในสามขององค์กรที่ระบุว่า องค์กรได้ขยายขอบเขตสวัสดิการพนักงานให้ครอบคลุมการสนับสนุนครอบครัวของพนักงานในยามจำเป็นด้วยเช่นกัน นับเป็นการตอกย้ำว่า ยุคสมัยแห่งการให้บริการด้านอาชีวอนามัยขั้นพื้นฐานสำหรับพนักงานเพียงอย่างเดียวนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าบริการด้านอาชีวอนามัยสำหรับพนักงานจะยังคงมีความสำคัญ แต่จำเป็นต้องถูกยกระดับด้วยมาตรการช่วยเหลือและการสนับสนุนที่หลากหลาย เพื่อปกป้องดูแลพนักงานทั่วโลก

[1] รายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลก ประจำปี 2567 อ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความเสี่ยงทั่วโลก 675 ราย โดยชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน เช่น การรับรู้เรื่องความเสี่ยง สุขภาพจิต ผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และความท้าทายในการปฏิบัติงาน นอกจากข้อมูลจากการสำรวจแล้ว รายงานนี้ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและการคาดการณ์จาก Workforce Resilience Council รวมถึงบทวิเคราะห์และข้อมูลจำนวนมากที่เป็นกรรมสิทธิ์ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ทั้งนี้ Workforce Resilience Council ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนจากทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความมั่นคง และความปลอดภัย สมาชิกของ Workforce Resilience Council ปี 2566 มีทั้งกลุ่มนักวิชาการ, สมาคม, คณะกรรมการที่ปรึกษา, องค์การนอกภาครัฐ (NGO) และองค์การระหว่างประเทศ (IGO) ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการทำงานทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ

[2] คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  https://www.ipcc.ch/report/ar6/syr/

About the International SOS Group of Companies

The International SOS Group of Companies is in the business of saving lives, protecting your global workforce from health and security threats. Wherever you are, we deliver customised health, security risk management and wellbeing solutions to fuel your growth and productivity.

In the event of extreme weather, an epidemic or a security incident, we provide an immediate response providing peace of mind. Our innovative technology and medical and security expertise focus on prevention, offering real-time, actionable insights and on-the-ground quality delivery. We help protect your people, your organisation's reputation, as well as support your compliance reporting needs. By partnering with us, organisations can fulfil their Duty of Care responsibilities, while empowering business resilience, continuity, and sustainability.

Founded in 1985, the International SOS Group, headquartered in London & Singapore, is trusted by 9,500 organisations, including the majority of the Fortune Global 500 as well as mid-size enterprises, governments, educational institutions, and NGOs. 13,000 multi-cultural

security, medical, logistics and digital experts stand by you to provide support & assistance from over 1,000 locations in 90 countries, 24/7, 365 days. 


แท็ก เนชั่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ