จุฬาฯ จับมือ สสส. ออกแบบ "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" ใช้ดัชนี GoodWalk Score เลือกพื้นที่นำร่อง พัฒนาเป็นย่านเดินได้ เดินดีในกรุงเทพ และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ มั่นใจเมืองเดินได้จะช่วยลดมลภาวะ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะคนเมือง
ในงาน GoodWalk Forum Thailand 2023 โดยโครงการ "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" มีการเผยตัวเลขค่าเฉลี่ยบางอย่างที่น่าสนใจ
คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์คิดเป็น 800 ชั่วโมงต่อปี!
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ของคนเมืองคิดเป็น 20 % ของรายจ่ายทั้งหมด
ระยะการเดินเท้าสูงสุดที่คนเมืองยอมเดินคือ 800 เมตร หรือราว 10 นาที
44 % ของคนกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วน
ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร?
กรุงเทพเป็นมหานครแห่งรถยนต์ ยิ่งตัดถนน รถยนต์ยิ่งเพิ่มปริมาณ และราคาที่คนเมืองต้องจ่ายคือฝุ่นพิษ PM2.5 การจราจรติดขัด การใช้เวลาบนท้องถนนนาน ๆ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหาสุขภาพกายและใจ ฯลฯ
แนวคิดและแนวทางการพัฒนาเมืองจึงต้องเปลี่ยน! จากงบตัดถนน ปรับมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ "เมืองเดินได้" เพื่อส่งเสริมให้ "การเดิน" อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองมากขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้าหลังหรือขวางการเจริญของเมืองแต่อย่างใด หลายประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย หันมาให้ความสำคัญกับการเดินมากขึ้น และนำแนวคิดเรื่อง "เมืองเดินได้" มาเป็นทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง อย่างเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ใช้เวลานับ 10 ปี ทวงคืนพื้นที่หรือถนนบางส่วนให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเดินเท้า เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและลดมลภาวะ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมือง
ประเทศไทยก็ตอบรับกระแสการพัฒนา "เมืองเดินได้" เช่นกัน โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (Urban Design and Development Center, Center of Excellence in Urban Strategies, หรือ UDDC-CEUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี GoodWalk Thailand" มาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุลผู้อำนวยการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ
"เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ไม่ใช่แค่เรื่องปรับปรุงคุณภาพทางเท้า หรือขยายทางเท้า แต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเมืองของประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ความท้าทายอันหลากหลายของเมือง ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ การเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ" รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการฯ ในงาน "GOODWALK FORUM THAILAND 2023 ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมือง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ในงานมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบทเรียนจากประสบการณ์การพัฒนาเมืองเดินได้-เมืองเดินดีในกรุงเทพมหานครและเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ทีมโครงการฯ ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 9 ปี เริ่มตั้งแต่การศึกษาและสำรวจพื้นที่ เพื่อทำดัชนีประเมินศักยภาพ "เมืองเดินได้ เดินดี" พัฒนาเป็นแผนที่ Goodwalk Score เพื่อระบุพื้นที่ที่จะนำร่องออกแบบ ปรับปรุงให้เกิดการเชื่อมต่อจุดหมายต่าง ๆ จนเป็นพื้นที่ตัวอย่างรูปธรรม "ย่านเดินได้ ย่านเดินดี" เช่น ย่านจุฬาฯ -สามย่าน บรรทัดทอง สยามสแควร์ สะพานลอยฟ้าเจ้าพระยา ฯลฯ
ชีวิตดีขึ้นเมื่อ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี"งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของเมืองส่งผลต่อวิถีชีวิตและกิจกรรมทางกายของคนเรา ซึ่งการพัฒนาเมืองให้เป็น "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" นั้นมีประโยชน์หลายประการ ได้แก่
- ผู้คนสุขภาพดีขึ้น ถ้าย่านที่อยู่นั้นดี มีพื้นที่ที่สามารถเดินได้สะดวก ปลอดภัย ก็จะมีส่วนสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนออกมาเดินและทำกิจกรรมทางกาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้น
รศ.ดร.นิรมล อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ประมาณการว่า ในแต่ละปี การเสียชีวิตของประชากรโลกเกือบ 1.9 ล้านคน มาจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (และได้แนะนำให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์)
"ดังนั้น การจัดโครงสร้างของเมืองที่เอื้อให้ผู้คนได้เดินมากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนเมือง ให้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น 2-3 เท่า ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด" - เศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ย่านชุมชนในเมืองที่มีทางเท้าไปถึง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ของเมืองสู่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME) ในย่านนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยรักษาทั้งเศรษฐกิจเดิมและเพิ่มเศรษฐกิจใหม่ นอกจากนี้ ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในย่านเดินได้จะมีมูลค่าสูงกว่าย่านที่เดินไม่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลการวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Gen Me มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่จะเลือกย่านที่อยู่อาศัยก่อนเลือกงาน และพวกเขามักจะเลือกอยู่ในย่านที่เดินได้-เดินดี นั่นหมายความว่าการออกแบบและปรับพื้นที่ให้เป็นย่านเดินได้-ย่านเดินดี จะมีส่วนยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้พื้นที่นั้นด้วย - บ่มเพาะนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (cultural creative incubation) เมื่อเมืองเดินได้ เดินดี ผู้คนก็ออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ดึงดูดกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษและเหล่าศิลปินให้มาแสดงความสามารถ บรรยากาศเช่นนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรและนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี
- เกิดพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive Society) เมื่อผู้คนออกมาเดินกันมากขึ้น ก็นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดความรู้สึกผูกพันกับถิ่นที่อยู่ของตัวเอง รู้จักคนในละแวกเดียวกัน สร้างความปลอดภัยในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีนัยยะในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม นอกจากนี้ การมีพื้นที่เดินได้-เดินดี ก็จะช่วยตอบโจทย์ผู้สูงวัย (หัวใจยังแอคทีฟ) ที่จะไม่เหงาติดบ้านอีกต่อไป แต่มีพื้นที่ปลอดภัยนอกบ้านให้ออกมาสนุกกับการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ
รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ
"ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคนสูงวัยออกมาเดินในพื้นที่สาธารณะมากนัก เพราะทางเดินไม่ดี เดินลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการอยู่ติดบ้าน ติดเตียงของคนสูงวัยในเมืองไทยสูงมากที่สุดในทวีปเอเชีย" คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) จุฬาฯ ให้ข้อสังเกต
เมืองเดินได้ เมืองเดินดี เป็นอย่างไรโครงการฯ ได้พัฒนาเว็บไซต์ GoodWalk (http://goodwalk.org/) ให้เป็นช่องทางนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร มุมมองเกี่ยวกับเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ทั้งในและต่างประเทศ โดยไฮไลต์ของเว็บไซต์คือแผนที่ GoodWalk Score ที่มีการจัดอันดับพื้นที่ "เดินได้" และ "เดินดี" ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
"เมืองเดินได้คือพื้นที่หรือย่านของเมืองที่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่ในระยะที่เดินเท้าถึง หรือประมาณ 500-800 เมตร" รศ.ดร.นิรมล ให้คำนิยาม "เมืองเดินได้"
สำหรับเกณฑ์ในการวัดและให้คะแนน "เมืองเดินได้" นั้นมีการกำหนดแหล่งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนไว้ 6 ข้อ ได้แก่ 1) แหล่งงาน 2) สถานศึกษา 3) อุปโภค-บริโภค 4)นันทนาการ 5) ธนาคาร/ธุรกรรม และ 6) ขนส่งสาธารณะ
ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ได้ระดับคะแนน "เดินได้" สูงสุด คือ ย่านสยามสแควร์ ข้าวสาร และเขตบางรัก ตามลำดับ
ส่วน "เมืองเดินดี" รศ.ดร.นิรมล ให้นิยามว่า "เป็นเมืองที่มีการออกแบบคุณภาพการเดินให้น่าเดิน เดินสะดวก ปลอดภัย ความกว้างทางเท้าเพียงพอ ไม่มีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างเพียงพอ สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเดิน ความร่มรื่นของทางเท้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนและจัดอันดับของเมืองเดินดี"
ในกรุงเทพมหานคร "ถนนเดินดี" จากการเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ ถนนราชวงศ์ ถนนจักรพงษ์ ถนนลาดหญ้า ซอยสยามสแควร์ 7 ถนนพระราม 1 ฯลฯ
5 ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเดินนอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว เว็บไซต์ GoodWalk ยังมีการประเมินค่าการเดินดี ในต่างจังหวัดด้วย เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านที่เข้าข่ายเดินได้-เดินดี ได้แก่ ย่านช้างเผือก ย่านท่าแพ ตลาดวโรรส เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าไป GoodWalk (http://goodwalk.org/) เพื่อค้นหาคะแนน Goodwalk score ในย่านที่คุณอยู่อาศัย หรือค้นหาจุดหมายปลายทางที่คุณอยากไปในระยะที่เดินถึงจากตำแหน่งทีคุณอยู่ ค้นหาย่านที่ตรงใจ เดินได้ เดินดี ฯลฯ
เดินสร้างความเข้าใจ ร่วมสร้าง "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี"กรุงเทพมหานครเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการตลาดรถยนต์ จนกลายเป็นเมืองแห่งรถยนต์ แต่การพัฒนาเมืองให้เป็น "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" อาศัยเวลา โดยฉพาะอย่างยิ่งเวลาในการทำความเข้าใจกับผู้คนให้เห็นถึงประโยชน์ของเมืองเดินได้
"ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองเดินได้-เมืองเดินดีเป็นจริงคือผู้บริหารเมือง ที่มีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะเปลี่ยน อีกปัจจัยคือทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้น ๆ ต้องยอมรับว่า ทุกการกระทำที่จะเปลี่ยนแปลงเมือง ย่อมกระทบต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ เราต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้คนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง จนสามารถออกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง" คุณอดิศักดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ กล่าว
ที่ผ่านมา โครงการฯ ใช้ข้อมูลจากแผนที่ GoodWalk Score ในการเลือกพื้นที่ที่จะพัฒนาอย่างลงลึกให้เป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือการเดินเข้าหาผู้คนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ที่สำคัญ โครงการฯ เน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีพัฒนา และภาคประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการสำรวจ และออกแบบพื้นที่ย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และเมืองในจังหวัดอื่น ๆ ให้เป็นพื้นที่หรือย่านเดินได้และเดินดี
"เป้าหมายของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การศึกษาและออกแบบพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ไปยังสถานศึกษาและคนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้"
ย่านจุฬาฯ - Sandbox เมืองเดินได้-เมืองเดินดีกรุงเทพมหานครมีโอกาสพัฒนาเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดีสูงมาก คุณอดิศักดิ์ กล่าว
"นโยบายของผู้ว่ากรุงเทพฯ ทั้งสมัยก่อนหน้าและสมัยปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะระบบราง ทำให้คนเดินมากขึ้น แต่การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินได้ทั้งเมืองนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะมีหลายพื้นที่ถูกปิดล้อม บางที่ถูกทิ้งรกร้าง และมีปัญหาทับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทางโครงการฯ จึงใช้แนวคิด "การฝังเข็มเมือง" หรือการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กเป็นย่าน ๆ ที่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสังคมในระดับเมืองใหญ่"
หนึ่งในย่านที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงคือย่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการศึกษาและสำรวจพื้นที่ พบว่าย่านปทุมวัน สยาม สามย่าน เป็นพื้นที่ที่มีค่าดัชนีเดินได้มากที่สุดในกรุงเทพและประเทศไทย เนื่องจากเป็นย่านที่มีจุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันในระยะที่เดินถึง ไม่ต้องพึ่งรถยนต์ในการเดินทาง ทางโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ทำผังแม่บท CU2040 Masterplan: ผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 "ปรับ-เปลี่ยน-เปิด" เพื่อทุกคน
รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ กล่าวถึงการดำเนินการให้จุฬาฯ เป็นพื้นที่เดินได้-เดินดี
"จุฬาฯ เป็น sandbox นำร่องที่สำคัญ มีการทำทางเท้าที่มีหลังคาคลุมเชื่อมต่ออาคารต่าง ๆ มีการใช้รถบัสไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มีระบบ car sharing และ bike sharing ที่ไม่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง (First and Last Mile Connectivity)"
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังผลักดันให้พื้นที่สยามแสควร์ สวนหลวง สามย่าน เป็นย่านที่ทั้งเดินได้และเดินดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทางเท้า โครงสร้างกันแดดกันฝน การเชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบ การสร้างจุดชะลอความเร็วรถยนต์ ตลอดจนการปิดถนนบริเวณสยามแสควร์ เป็น walking street ที่ส่งเสริมการเดินเท้าไปพร้อม ๆ กับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ อาทิ การแสดงดนตรี Street Performance ตลาด ถนนคนเดิน และรวมถึงการให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในเทศกาลหนังกรุงเทพฯ กลางแปลง
เดิน เปลี่ยนเมืองนอกจากย่านจุฬาฯ แล้ว ทีมโครงการฯ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการกรุงเทพฯ 250 เพื่อพลิกเมืองเก่าให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพเป็นมหานครระดับโลก ฉลองวาระ 250 ปีกรุงเทพฯ ในปี 2575
ทีมโครงการฯ ร่วมฟื้นฟู 17 เขตเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ หรือคิดเป็น 60% ของกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินได้ ได้แก่ ย่านราชดำเนินกลาง ย่านท่าช้าง-ท่าเตียน ย่านบ้านหม้อ ย่านบางขุนนท์-ไฟฉาย ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านถนนโยธี-ราชวิถี ย่านชุมชนซอยโปโล-ร่วมฤตี ย่านตลาดน้อย ย่านสะพานปลา-ยานนาวา-ถนนตก ย่านวงเวียนใหญ่ และฟื้นฟูเมืองโซนที่อยู่อาศัยในย่านจรัญสนิทวงศ์ ยานาวา-บางคอแหลม
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมฟื้นฟูเมืองโซนประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ และธนบุรี และเมืองโซนกลางพาณิชยกรรมปทุมวัน-บางรัก และพาณิชยกรรมตากสิน และยังมีโครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำต่อเนื่องในย่านกะดีจีน โครงการสะพานเขียวกรุงเทพฯ และแผนพัฒนาพื้นที่หรือย่านโดยรอบ ที่เชื่อมต่อระบบรางและขนส่งสาธารณะร่วมกับกรุงเทพมหานครด้วย
โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาหนึ่งในผลงานตัวอย่างรูปธรรมที่โดดเด่นและเป็นที่น่าภูมิใจคือการปรับปรุงสะพานด้วน หรือโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างไม่เสร็จ ให้เป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
"พื้นที่นี้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรโดยเท้าและจักรยานของคน ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และยังรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินเล่น นั่งพักผ่อน ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก รวมทั้งปลูกต้นไม้สร้างร่มเงาความร่มรื่น ให้นักท่องเที่ยวสามารถข้ามไปฝั่งธนบุรีได้สะดวก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนฝั่งธนบุรี" คุณอดิศักดิ์ กล่าว
ทางเดินยกระดับ Sky walk เชื่อมต่อย่านราชวิถี-โยธีอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ขณะนี้ ทางโครงการฯ และกรุงเทพมหานคร กำลังสำรวจคือย่านราชวิถี -โยธี เพื่อทำทางเดินยกระดับ Sky walk เชื่อมต่อพื้นที่ให้บริการทั้งสองฝั่งถนนและย่านโดยรอบ รศ.ดร.นิรมล กล่าว
"ย่านนี้เป็นย่านสำคัญ เนื่องจากมีโรงพยาบาลชั้นนำและโรงเรียนแพทย์ถึง 7 แห่ง ด้วยความที่สมัยก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยากจะให้ย่านนี้เป็น Medical metropolis จึงเป็นโอกาสดีในการฟื้นฟูย่าน ให้มีทางเดินยกระดับเพื่อรองรับการใช้งานของผู้คนได้มากขึ้น ทางเดินกว้างขึ้น ปลอดภัย มีหลังคา ไม่เปียก ไม่ร้อน ลดการใช้รถยนต์ เพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะ เชื่อมต่อกลุ่มอาคารโรงพยาบาลและพื้นที่ค้าขาย ซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอยที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงหมุนเวียน เศรษฐกิจ สุขภาวะและชุมชนที่ดี"
เดินหน้าโปรโมทการท่องเที่ยวด้วยวิถี "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี"แนวทางการพัฒนาเมืองเดินได้-เดินดี นอกจากจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองหลวง แล้ว ยังสามารถใช้พัฒนาเมืองรองในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน
"ความท้าทายอยู่ที่โจทย์ของแต่ละเมือง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ละเมืองมีเรื่องราวอัตลักษณ์เมือง ต้นทุนเมืองและต้นทุนทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมการเดินเท้าได้ ยิ่งเมืองที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ยิ่งจำเป็นต้องสนับสนุนเดินเท้า" รศ.ดร.นิรมล กล่าว
ทีมวิจัยของโครงการฯ ร่วมมือกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจเมือง ลงสำรวจพื้นที่พิจารณาจุดขายและจุดแข็งของแต่ละเมือง รวมถึงทำประชาคมเพื่อรับฟังเสียงจากคนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมตัดสินใจร่วมกัน มีความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน จากนั้นจึงร่วมออกแบบเมืองเชื่อมต่อการเดินเท้าให้กลายเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยแบ่งออกเป็นเส้นทางมรดกวัฒนธรรม เส้นทางเศรษฐกิจ เส้นทางการเรียนรู้ และเส้นทางสีเขียว เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีและกิจกรรมทางสังคมให้กับคนในชุมชน
ตัวอย่างของเมืองต้นแบบที่ทางโครงการฯ ลงไปร่วมพัฒนา ได้แก่ เมืองลำพูนซึ่งเป็นเมืองโบราณสถาน เมืองร้อยเอ็ดที่มีงานเทศกาล เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองวัดพระธาตุ และเมืองระยองซึ่งเป็นเมืองเก่า
"ผลลัพธ์ที่ได้คือโอกาสจากเศรษฐกิจใหม่ของเมืองที่สามารถดึงดูดลูกหลานกลับมาเปิดร้านค้าขายที่บ้านเกิด อีกทั้งเทศบาล สำนักงานจังหวัดหลายแห่ง และประชาชนในหลายพื้นที่ เห็นด้วยและต้องการที่จะใช้ยุทธศาสตร์แนวคิดเมืองเดินได้-เดินดีเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนเมืองของพวกเขา"
โอกาสจากเศรษฐกิจใหม่ของเมือง จ.ลำพูนรศ.ดร.นิรมล เผยว่าล่าสุด โครงการฯ ได้ร่วมพัฒนาเมืองรอง 33 เมืองในแต่ละภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ สังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาธุรกิจรายย่อยของย่าน พัฒนาสู่เมืองเดินได้-เดินดี และตอบโจทย์ของแต่ละเมืองได้มากที่สุด
แผนที่เมืองเดินได้-เดินดี 33 เมืองจากการดำเนินงาน 9 ปี หลายเมืองเริ่มออกเดินแล้ว ทีมโครงการฯ มั่นใจและเห็นเค้าลางความเป็นไปได้ในการพัฒนา "เมืองเดินได้-เมืองเดินดี" ทั้งในเมืองหลวงและเมืองในระดับภูมิภาค แต่สิ่งที่ยังเป็นโจทย์ท้าทายคือมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ
"หน่วยงานราชการยังไม่เห็นและยอมรับให้แนวทาง เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ให้เป็นการพัฒนาเมืองในประเทศไทย ทำให้ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ส่วนใหญ่ในการพัฒนาเมืองยังเป็นเรื่องงบทำถนน งบปรับปรุงถนน" รศ.ดร.นิรมล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ UDDC-CEUS และภาคีพัฒนา ยังคงเดินหน้าผลักดันให้แนวคิดการพัฒนาเมืองเดินได้-เดินดี เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ รศ.ดร.นิรมล หวังว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่โครงการณ นำเสนอในรูปแบบหนังสือ อาทิ Walkable City "เมื่อกรุงเทพฯ ออกเดิน"หนังสือ Walkable 101 "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ร้อยเอ็ด" และมาตรฐาน Complete Streets เมืองเดินได้-เมืองเดินดีจะเป็นเอกสารอ้างอิงแนวคิดนี้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และสามารถเป็นหนึ่งในนโยบายและแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองในประเทศไทยได้ในอนาคต
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ได้ที่
เว็บไซต์ http://www.goodwalk.org/
Facebook: https://www.facebook.com/GoodwalkThailand
Facebook: www.facebook.com/uddcbangkok
หรือ สอบถามเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง(UddC) อีเมล info@uddc.net
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022"