นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าตรวจปริมาณสาร THC ในกัญชาที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ชุดตรวจนอกห้องปฏิบัติการที่มีความไวสูง รู้ผลเร็ว แม่นยำ ช่วยผู้บริโภคปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการบริโภคสารที่เป็นโทษต่อร่างกาย
ภายหลังการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ปัจจุบันได้มีการนำกัญชามาใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งใช้ในการปรุงอาหารและผสมในเครื่องดื่ม โดยอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ของกัญชาเพื่อสุขภาพ
แต่สิ่งใดที่มีคุณประโยชน์ ก็มีโทษได้ด้วยเช่นกัน กัญชามีสารต่าง ๆ มากกว่า 400 ชนิด โดยสารสำคัญที่มักถูกกล่าวถึงเสมอ ๆ มี 2 ชนิด ได้แก่ CBD (Cannabidiol) สารที่นำมาใช้ทางการแพทย์ในการรักษาโรค และ THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ให้โทษต่อร่างกาย ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนเมา อาการหลอน และที่อันตรายอย่างยิ่งคือผู้ที่บริโภค THC ในปริมาณมากเกินค่ามาตรฐานและในกลุ่มผู้ที่มีอาการแพ้สาร THC อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ปริมาณ THC ในอาหารและเครื่องดื่มต้องไม่เกิน 2% มิฉะนั้นจะถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสารเสพติด
แล้วผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ปลอดสารที่เป็นโทษ?
ดร.สุดเขต ไชโยนักวิจัย จาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ
ดร.สุดเขต ไชโย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนานวัตกรรม "สตริปเทสเคมีไฟฟ้าอย่างเร็วสำหรับตรวจประเมินปริมาณ THC" โดยต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้เคยพัฒนาชุดตรวจ ATK ที่ทำงานร่วมกับเคมีไฟฟ้าสำหรับวินิจฉัยคัดกรองโรคโควิด-19 ซึ่งเป็น ATK ที่ผลิตโดยคนไทย
"ปัจจุบันการตรวจวัดปริมาณ THC จะต้องทำในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ และมีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองสาร THC ในผลิตภัณฑ์กัญชา เราจึงคิดพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสาร THC ในเบื้องต้นได้เอง เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้นในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชา" ดร.สุดเขตกล่าว
ชุดตรวจ THC แบบพกพา ใช้ง่าย วัดค่าสารอันตรายได้ในระดับนาโนดร.สุดเขตกล่าวว่าแม้โครงสร้างทางเคมีของ CBD และ THC ในกัญชาจะมีความคล้ายคลึงกัน อีกทั้งกัญชาแต่ละสายพันธุ์มีปริมาณสาร CBD และ THC ไม่เท่ากัน แต่สตริปเทสเคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจประเมินปริมาณของ THC ก็มีความไวในการตรวจวัดค่า THC ได้อย่างแม่นยำ และใกล้เคียงกับการตรวจวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจปริมาณ THC
"ชุดตรวจนี้ทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ที่ตรวจวัดปริมาณ THC ในอาหารหรือเครื่องดื่มได้อย่างรวดเร็วและมีความไวในการตรวจ แม้จะมีสาร THC ในปริมาณเพียง 1.3 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ก็ตรวจเจอได้"
ทั้งนี้ ดร.สุดเขตเผยว่าประสิทธิภาพของชุดตรวจมาจากการบูรณาการสองศาสตร์เข้าด้วยกัน กล่าวคือการตรวจวัดที่รวดเร็วของแถบทดสอบอิมมูโนแอสเสย์แบบการไหลด้านข้าง และการตรวจวัดด้วยความไวสูงของเทคนิคทางเคมีไฟฟ้า
"ชุดตรวจใช้หลักการเดียวกับ ATK ตรวจโควิด-19 จึงใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงเรานำสารสกัดจากกัญชาในอาหารหรือเครื่องดื่มไปผสมกับน้ำยาที่มีความจำเพาะกับสตริปเทส แล้วหยดลงบนสตริปเทส เพียงแค่ 2 หยด รอประมาณ 6 นาทีก็สามารถอ่านผลได้จากสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์"
ชุดตรวจแถบทดสอบเคมีไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกต่อการพกพา ใช้ง่าย ราคาไม่แพง (ชิ้นละ 20 บาท) ดร.สุดเขตหวังให้เป็นหนึ่งทางเลือกในการตรวจประเมินปริมาณ THC นอกห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ใช้งานในกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา
"สตริปเทสเคมีไฟฟ้านี้จะเป็นตัวช่วยกรองให้ประชาชนไม่บริโภคสิ่งที่เป็นโทษเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ควบคุมปริมาณกัญชาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่อร่างกายจากสาร THC อีกด้วย" ดร.สุดเขตกล่าว
นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
อนาคตสตริปเทส อุปกรณ์อย่างง่ายช่วยคัดกรองโรคดร.สุดเขตและคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบสตริปเทสร่วมกับเคมีไฟฟ้าต่อไปเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยและพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าในการตรวจคัดกรองกามโรคในเบื้องต้น ซึ่งเป็นโรคที่วัยรุ่นไทยมีความเสี่ยงในการเกิดโรคและไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์ รวมทั้งสตริปเทสร่วมกับเคมีไฟฟ้าในการตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคไข้หูดับจากการรับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจจะร่วมพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าเพื่อใช้คัดกรองปริมาณ THC เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อ ดร.สุดเขต ไชโย สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.0-2218-8056 E-mail : sudkate.c@chula.ac.th