น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 18, 2024 16:02 —ThaiPR.net

น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ

นักวิจัยจุฬาฯ คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาเคลือบและยืดอายุกระดาษได้นาน 15-20 ปี โดยกระดาษไม่เปื่อย สีไม่เปลี่ยน เชื้อราไม่ขึ้น ฝุ่นไม่จับ อีกหนึ่งความพยายามที่จะอนุรักษ์เอกสาร ภาพวาดและภาพถ่ายโบราณ ถูกใจบรรณารักษ์และคนรักหนังสือที่อยากถนอมหนังสือไว้อ่านได้นาน ๆ

นอกจากกาลเวลาแล้ว ความร้อน ความชื้น และเชื้อรา นับเป็นตัวเร่งสำคัญในการลบและทำลายร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เอกสาร ภาพวาด ภาพถ่ายและแผนที่โบราณซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหลายร้อยปีต่างแปรสภาพ กระดาษเปื่อย สีจางและลางเลือน ความชื้นจับ ราขึ้น ฝุ่นเกาะ - เหล่านี้เป็นปัญหาที่นักอนุรักษ์ทั่วโลกและชาวหนอนหนังสือทั้งหลายพยายามแสวงหาวิธีที่จะแก้ไขเพื่อยืดอายุประวัติศาสตร์และความทรงจำที่จารึกบนกระดาษ

ในต่างประเทศการเก็บหนังสือ ผลงานศิลปะ และเอกสารในห้องสมุดต่าง ๆ อยู่ในมือนักอนุรักษ์เอกสารโบราณ หรือนักวิทยาศาสตร์อนุรักษ์ (Conservator) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มีความรู้ในการเก็บหนังสือ หรือวัตถุทรงคุณค่าตามกฎการอนุรักษ์ โดยจะใช้สารเคลือบวัตถุที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเนื้อวัตถุ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแปรสภาพเนื้อวัตถุ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ การเก็บรักษาหนังสือและเอกสารโบราณจึงมักอยู่ในถุงพลาสติกซิปล็อก เก็บวางไว้ในที่แห้งและเย็น ซึ่งสามารถชะลอความเสื่อมของหนังสือได้ระยะหนึ่ง แต่ก็ชะลอได้ไม่นานนัก

ปัญหาดังกล่าวได้จุดประกายให้ทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม "น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ" ที่เหมาะสมกับอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทย โดยทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.คเณศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์

ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง (ซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร.คเณศ วงษ์ระวี (ขวา) คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก (กลาง) คณะอักษรศาสตร์ จุฬา

นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหอสมุดชั้นนำหลายแห่งในประเทศก็ได้นำน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไปใช้จริงแล้วด้วยโดยการชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณต่าง ๆ

"น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไม่เพียงเหมาะกับการอนุรักษ์หนังสือ เอกสารทางประวัติศาสตร์ ภาพวาดและภาพถ่ายโบราณ แต่สำหรับบุคคลทั่วไป น้ำยาดังกล่าวยังช่วยในการรักษาเอกสารสำคัญ หนังสือเล่มโปรด ภาพวาดและภาพถ่ายที่อยากเก็บให้คงสภาพและรักษาสีสันดั้งเดิมเอาไว้ให้นานยิ่งขึ้นด้วย" ดร.ลัญจกร หนึ่งในทีมวิจัยและผู้ก่อตั้งบริษัท รี-บอนดิ้ง จำกัดกล่าว

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ

ดร.ลัญจกรเล่าว่า "น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยระดับปริญญาเอก ขณะที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยกราซ (University of Graz) ประเทศออสเตรีย"

"โจทย์วิจัยในตอนนั้น คือ การค้นหาวิธีรักษาเอกสารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมากในห้องสมุดให้คงอยู่ ไม่สลายไปตามกาลเวลา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ไม่ทำให้กระดาษแปลงสภาพ และช่วยยืดอายุ ชะลอความเสื่อมสภาพของกระดาษได้นาน 10 ปีขึ้นไป"

ผลการวิจัยประสบผลสำเร็จด้วยดี ดร.ลัญจกรจึงคิดจะต่อยอดการวิจัยเมื่อกลับมาประเทศไทย

"สภาพอากาศแบบประเทศไทย กระดาษมีความเสี่ยงที่จะเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าในประเทศที่มีสภาพอากาศแห้งและหนาวเย็น เราจึงต้องเอางานวิจัยนี้มาพัฒนาปรับสูตรให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศเรา"

สูตรสารเคลือบกระดาษที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทยได้ผ่านการพิสูจน์ Aging Test ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าได้ผล ดร. ลัญจกรกล่าว

"เราจำลองสภาพแวดล้อมในห้องทดลองที่อุณหภูมิสูงถึง 80 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง 75% เป็นระยะเวลา 7 วันติดต่อกัน ซึ่งเทียบเท่ากับการอยู่ในอากาศภายนอก 20 ปี แล้วนำผลมาตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของกระดาษที่ถูกเคลือบ พบว่ากระดาษที่เคลือบน้ำยาจะเหลืองน้อยกว่า ไม่เกิดเชื้อรา เนื้อกระดาษมีความแข็งแรงกว่ากระดาษที่ไม่ได้เคลือบน้ำยา"

การทดสอบจำลองสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิและความชื้นสูง

ดร.ลัญจกรอธิบายว่า "น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% ผลิตจากเซลลูโลสที่สกัดได้จากพืชและใช้เทคโนโลยีนาโนคอมโพสิต จึงปลอดภัยทั้งกับวัสดุกระดาษต่าง ๆ และผู้ใช้งาน"

"นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษสามารถใช้ได้กับวัสดุที่มีส่วนประกอบจากเซลลูโลสทุกประเภท เช่น กระดาษ หนังสือ เอกสารโบราณ งานศิลปะ สิ่งทอ งานไม้ เป็นต้น โดยน้ำยาจะช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษและวัสดุได้ยาวนานถึง 15 - 20 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาพของกระดาษ สีวาด หมึกพิมพ์ และองค์ประกอบของหนังสือ มีคุณสมบัติกันน้ำ กันความชื้น กันรังสียูวี กันเชื้อรา กันฝุ่นและคราบสกปรก ไม่ทำให้กระดาษเหลือง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดาษได้มากถึง 65%"

2 สูตรน้ำยาเคลือบยืดอายุหนังสือและงานศิลปะ

นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า SalvaStory (ซัลวาสตอรี) โดย ดร.ลัญจกรกล่าวว่าทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไว้ 2 สูตรด้วยกัน คือ

สูตรอนุรักษ์หนังสือ

สูตรอนุรักษ์หนังสือนี้น้ำยาเคลือบจะมีความเข้มข้นสูง ป้องกันน้ำ ช่วยเสริมความยืดหยุ่น ยืดอายุกระดาษ ไม่ทำให้กระดาษเป็นคลื่น ไม่ทิ้งคราบบนกระดาษ ลักษณะบรรจุภัณฑ์มี 2 แบบ คือ

  • น้ำยาเคลือบบรรจุขวดแกลอนสามารถเทน้ำยาใส่ภาชนะและนำหนังสือมาชุบได้เลย เหมาะกับบรรณารักษ์หอสมุด และประชาชนผู้ที่มีหนังสือเก่า หรือหนังสือทรงคุณค่าจำนวนมาก
  • สเปรย์สำหรับฉีดพ่น เหมาะสำหรับผู้ต้องการฉีดพ่นแผ่นเอกสารขนาดใหญ่ เช่น โฉนดที่ดิน แผนที่ขนาดใหญ่ หรือผู้ที่มีหนังสือเล่มบาง ๆ ที่ต้องการยืดอายุ
  • น้ำยายืดอายุหนังสือ สูตรอนุรักษ์หนังสือ สูตรอนุรักษ์งานศิลปะ

    สูตรอนุรักษ์งานศิลปะเป็นน้ำยาแบบพ่นเคลือบ ไร้สี ไร้กลิ่นฉุน ไม่เพิ่มความเงา กระดาษทนน้ำ ใช้ได้กับสีไม้ สีน้ำ สีชาร์โคล สีชอล์ก สีอะคริลิก ดินสอแกรไฟต์ เหมาะสำหรับการผู้ที่ต้องการเพิ่มคุณสมบัติทนน้ำให้กระดาษ ลดการหลุดลอกของสี ลดความเสี่ยงเกิดคราบเหลือง ไม่เปลี่ยนสภาพกระดาษและสีบนงานศิลปะ แต่สูตรนี้จะเข้มข้นน้อยกว่าสูตรอนุรักษ์หนังสือ

    สูตรอนุรักษ์งานศิลปะ

    "นวัตกรรมนี้จะช่วยยืดอายุวัสดุ ให้คงความสวยงามและสภาพเดิมได้ยาวนานเพิ่มขึ้น 15-20 ปี น้ำยาเป็นสารที่สกัดจากธรรมชาติ จึงปลอดภัยกับผู้ใช้งาน และไม่ส่งผลให้เนื้อดั้งเดิมของวัสดุเปลี่ยนแปลง ข้อจำกัดเดียวในตอนนี้คือราคายังสูงอยู่สักหน่อย เพราะสารบางอย่างยังหายากและราคาแพง" ดร.ลัญจกรสรุปจุดเด่นของน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ

    ชุบชีวิต ยืดอายุเอกสารโบราณ ง่ายใน 4 ขั้นตอน

    น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษใช้ง่าย "ประชาชนทั่วไปสามารถทำเองได้ ไม่ซับซ้อน" ดร.ลัญจกรกล่าว พร้อมแนะนำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งสูตรอนุรักษ์หนังสือและสูตรสเปรย์เคลือบงานศิลปะ ดังนี้

    กรณีชุบเคลือบหนังสือ มี 4 ขั้นตอน คือ
  • เทน้ำยาใส่ภาชนะ
  • จุ่มแช่หนังสือลงไปทั้งเล่ม ให้น้ำยาท่วมและซึมเข้าหนังสือทั้งเล่ม นาน 5-10 นาที
  • ยกหนังสือขึ้นจากน้ำยาเคลือบ
  • ผึ่งลมหนังสือให้แห้ง จะปิดหนังสือ หรือเปิดหน้าหนังสือไว้ก็ได้ น้ำยามีคุณสมบัติแห้งไวประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • วิธีการจุ่มเคลือบหนังสือ

    กรณีสเปรย์น้ำยาเคลือบ มี 3 ขั้นตอน คือ
  • เขย่าขวดก่อนใช้งาน
  • ฉีดพ่นน้ำยาเคลือบบนภาพวาด ภาพถ่าย หน้าหนังสือ หรือเอกสารที่ต้องการเคลือบให้เปียกชุ่ม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทั่วทั้งชิ้นงาน
  • ผึ่งลมรอแห้ง ประมาณ 5 นาที
  • "เพียงเท่านี้ก็สามารถปกป้องหนังสือและงานศิลปะจากน้ำ เชื้อรา คราบสกปรก ความร้อน การแตกเปราะ รวมถึงปกป้องหมึก สีภาพวาดไม่ให้หลุดลอกได้นานยิ่งขึ้น"

    ส่วนหนังสือหรือเอกสารกระดาษที่แห้งกรอบมาก ๆ ดร.ลัญจกรแนะนำเพิ่มเติมว่า "สามารถชุบ หรือพ่นซ้ำได้ (หลายครั้ง) โดยรอให้การเคลือบรอบก่อนหน้าแห้งสนิทแล้วค่อยทำซ้ำ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และแข็งแกร่งแก่เอกสารกระดาษชุดนั้น"

    ก้าวต่อไปของนวัตกรรมอนุรักษ์โบราณวัตถุ

    หอสมุดชั้นนำหลายแห่งในประเทศ อาทิ หอสมุดกลางและหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ได้นำน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไปใช้ชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในระยะต่อไป ดร.ลัญจกรและทีมวิจัยจึงวางแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมให้ครอบคลุมการอนุรักษ์ด้านอื่น ๆ ด้วย

    "ทีมวิจัยเรามองการพัฒนาไว้ 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบให้มีประสิทธิภาพทั้งปกป้องวัตถุ และสามารถฆ่าเชื้อราที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วย ส่วนแนวทางที่สอง เราอยากจะต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ใช้กับโบราณวัตถุประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น งานไม้และงานปูนปั้น โดยน้ำยาเคลือบจะต้องไม่เป็นสารแปลกปลอมหรือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อโบราณวัตถุไปจากเดิมตามกฎของการอนุรักษ์" ดร.ลัญจกรกล่าวทิ้งท้าย

    อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ SalvaStory (ซัลวาสตอรี) ได้ที่เว็บไซต์ https://www.chula.ac.th/highlight/197364/

    "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022"


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ