อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เปิดผลสำรวจเนื่องในวัน "Blue Monday": โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคแพนิค ครองแชมป์ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 20, 2025 14:57 —ThaiPR.net

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เปิดผลสำรวจเนื่องในวัน

ความเครียดและความวิตกกังวลเป็นปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในที่ทำงาน โดยพนักงานประมาณ 40% ระบุว่า ตนเองเผชิญกับความเครียดในระดับที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา1 ด้วยเหตุนี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยระดับโลก จึงได้เรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ ดำเนินการเชิงรุกร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตของพนักงานภายในองค์กร เนื่องในวัน "Blue Monday" ซึ่งถือเป็นวันที่มีความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่สุดวันหนึ่ง และปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 20 มกราคม

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ได้เปิดเผยสามปัญหาสุขภาพจิตที่พนักงานทั่วโลกจากหลากหลายภาคส่วนร้องขอความช่วยเหลือเข้ามามากที่สุดในช่วงสามปีที่ผ่านมา2 ได้แก่

  • โรควิตกกังวล: ความหวาดกลัวและความวิตกกังวลอย่างรุนแรงและเกินกว่าที่ควร มักจะเป็นอาการที่มาพร้อมกับความตึงเครียดทางกาย
  • โรคซึมเศร้า: ภาวะสุขภาพจิตที่ทำให้รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า หรือหมดความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพร่างกายของพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ
  • โรคแพนิค: ภาวะอาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกับความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด
  • สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต การได้ทำงานที่มีความหมายสามารถส่งผลดีต่อการฟื้นฟูและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจในตนเองและพัฒนาทักษะทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น ผลการวิจัยระบุว่า การได้ทำงานส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพจิตอย่างลึกซึ้งมากกว่าการรักษาทางจิตเวชแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว3 อย่างไรก็ตาม หากพนักงานต้องเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ระดับฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลจะเพิ่มสูงขึ้น และแรงกดดันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ ดังนั้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ปัญหาสุขภาพจิตอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพนักงาน ทั้งในแง่ของความมั่นใจในตนเอง ความพึงพอใจในการทำงาน และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

    นพ.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ (Dr. Rodrigo Rodriguez-Fernandez) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพระดับโลก แผนกสุขภาวะและสุขภาพจิตของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า "เดือนมกราคมและช่วงเริ่มต้นปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับใครหลายคน ภาวะความหดหู่หลังช่วงเทศกาลวันหยุด การกลับเข้าสู่กิจวัตรการทำงานตามปกติ และสภาพอากาศหนาวเย็นในซีกโลกเหนือ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน ดังนั้น Blue Monday จึงเป็นโอกาสสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ จะร่วมกันบริหารจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตอย่างจริงจังตลอดทั้งปี และส่งเสริมวัฒนธรรมสุขภาวะที่ดี ไม่ใช่แค่ในวันนี้เพียงวันเดียว"

    "องค์กรต่าง ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงที่แยกจากกันไม่ได้ระหว่างสุขภาพจิตที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และประสิทธิภาพขององค์กร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออัตราความเครียดและความวิตกกังวลในที่ทำงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีประชากรในวัยทำงานทั่วโลกประมาณ 15% เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต4 ในขณะที่ผลกระทบเชิงลบจากความเครียดมีหลากหลายแง่มุม ทั้งปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินอาหาร รวมถึงผลกระทบทางกายภาพและทางอารมณ์5 ทั้งนี้ การส่งเสริมและรักษาสุขภาพจิตในที่ทำงานมีความเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างศักยภาพ การเพิ่มความตระหนักรู้ และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที"

    อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ขอนำเสนอ 5 แนวทางให้องค์กรต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อบริหารจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลของพนักงาน ดังนี้

    1.สนับสนุน

    ส่งเสริมวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน: สร้างวัฒนธรรมในที่ทำงานที่ให้ความสำคัญกับการเปิดอกพูดคุยกันและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยส่งเสริมให้พนักงานเปิดเผยระดับความเครียดของตนเอง และจัดเตรียมพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการระบายความกังวลโดยไม่ต้องกลัวการตัดสินหรือผลกระทบที่ตามมา

    2. สร้างสมดุล

    ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว พร้อมจัดให้มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น: โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการลาให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพจิตของพนักงาน รวมทั้งสนับสนุนให้พนักงานมีเวลาพักผ่อนและกำหนดขอบเขตของชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจน

    3. ประเมิน

    ประเมินความเครียดอย่างสม่ำเสมอ: ประเมินระดับความเครียดภายในองค์กรเป็นประจำ ด้วยการสำรวจความคิดเห็น การรับฟังฟีดแบคจากพนักงาน และการตรวจคัดกรองสุขภาพ จากนั้นใช้ข้อมูลที่ได้เพื่อระบุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด และให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดเพื่อจัดการกับปัจจัยเหล่านั้น

    4. ช่วยเหลือ

    นำเสนอโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (EAP): ให้พนักงานสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น ทั้งกิจกรรมการเรียนรู้เทคนิคการจัดการความเครียด บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และสายด่วนสุขภาพจิต

    5. ฝึกอบรม

    ฝึกอบรมการปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิตให้กับผู้จัดการ: เพื่อให้ผู้จัดการสามารถพัฒนาทักษะในการสังเกตสัญญาณของความเครียด และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่พนักงานที่กำลังเผชิญปัญหา

    มูลนิธิอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Foundation) จะจัดหลักสูตรฝึกอบรมว่าด้วยสุขภาวะของพนักงาน ในระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม เพื่อเสริมสร้างทักษะความสามารถที่จำเป็นในการวางแผน ออกแบบ และนำเสนอโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่รับผิดชอบด้านสุขภาวะของพนักงานในองค์กรของตนเอง


    แท็ก เนชั่น  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ