พระราชบัญญัติ
ประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “บริษัท” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติ ประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““บริษัท” หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “เงินกองทุน” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “กองทุน” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติ ประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““กองทุน” หมายความว่า กองทุนประกันชีวิต”
มาตรา ๖ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” ระหว่างคำว่า “นายหน้าประกันชีวิต” และ “กองทุน” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
““คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
ประกันภัย”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “นายทะเบียน” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““นายทะเบียน” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมอบหมาย”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กับออกประกาศตามบท
แห่งพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๗ การประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะกระทำได้เมื่อได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจาก รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อรัฐมนตรี และเมื่อรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว
เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขออนุญาตได้ดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคสองแล้วให้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้น
ในกรณีที่บริษัทมหาชนจำกัดไม่สามารถวางหลักทรัพย์หรือดำรงเงินกองทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าการอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตสิ้นผล
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือและมีมูลค่าหุ้น ที่จดทะเบียนไว้ไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท
การออกหุ้นบุริมสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้นายทะเบียนจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย โดยไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดก็ได้
มาตรา ๑๐ บริษัทต้องมีกรรมการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๑) และ (๒) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(๑) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย
(๒) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) มีบุคคลตาม (๑) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือ
(ข) มีบุคคลตาม (๑) หรือนิติบุคคลตาม (๒) (ก) หรือบุคคลตาม (๑) และนิติบุคคล ตาม (๒) (ก) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการอาจอนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่าหนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดได้ ทั้งนี้
การพิจารณาอนุญาตให้นำหลักเกณฑ์การถือหุ้นของบุคคลตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดตามวรรคสองได้ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนด
หลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้”
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ การโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการควบกันของบริษัท ให้กระทำได้เฉพาะกับบริษัทด้วยกันเท่านั้น
ในกรณีที่บริษัทประสงค์จะโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือควบกันตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริษัทดังกล่าวร่วมกันจัดทำโครงการแสดงรายละเอียดการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นชอบคณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด
ตามที่เห็นควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือเพื่อความมั่นคงของการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยก็ได้”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔/๑ มาตรา ๑๔/๒ และมาตรา ๑๔/๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
“มาตรา ๑๔/๑ การโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการโอนกิจการได้ ทั้งนี้ การโอนสิทธิ เรียกร้องในการโอนกิจการไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา ๓๐๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกรณีเป็นการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทให้ถือว่าการโอนมีผลสมบูรณ์ เมื่อบริษัทที่โอน และบริษัทที่รับโอนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว และให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทที่โอนกิจการนั้น
มาตรา ๑๔/๒ การควบบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
การควบบริษัทตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลสมบูรณ์เมื่อบริษัทที่จะควบกันได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๔ วรรคสองแล้ว และให้ถือว่าบริษัทที่ควบกันได้รับอนุมัติให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง
เมื่อได้มีการจดทะเบียนการควบบริษัท และดำเนินการวางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา ๒๐ พร้อมทั้งดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้รัฐมนตรีออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทที่ควบกันและให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่ออกให้แก่บริษัทเดิม
มาตรา ๑๔/๓ ในการโอนกิจการของบริษัทให้แก่บริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ การควบบริษัท หากมีการโอนสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเป็นอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกัน ซึ่งย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์แล้ว ให้หลักประกันเป็นอย่างอื่นนั้นตกแก่บริษัทที่รับโอนกิจการหรือบริษัทที่ควบกันแล้วแต่กรณี”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕ นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตบริษัทต้องเสีย ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการประกอบธุรกิจประกันชีวิตทุกปี เว้นแต่ปีที่ออกใบอนุญาต
บริษัทใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะชำระค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติ ในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๗ บริษัทตามมาตรา ๗ ที่จะเปิดสาขา ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาหรือเลิกสาขา ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘ วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต
ห้ามมิให้ผู้ใดใช้กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทซึ่งตนไม่มีสิทธิใช้ตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
“การใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจของตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตตาม (๕) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนด”
มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๓ ให้บริษัทจัดสรรเบี้ยประกันภัยไว้เป็นเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัย ที่ยังมีความผูกพันอยู่ และเงินสำรองอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
เงินสำรองตามวรรคหนึ่งจะเป็นเงินสด พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๒๔ คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้บริษัทวางเงินสำรองตามมาตรา ๒๓ ไว้กับ นายทะเบียนเป็นมูลค่าไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินสำรองตามมาตรา ๒๓
การวางเงินสำรองตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนด และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๑๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑/๑ การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๗/๑ มาตรา ๒๗/๒ มาตรา ๒๗/๓ มาตรา ๒๗/๔ มาตรา ๒๗/๕ มาตรา ๒๗/๖ และมาตรา ๒๗/๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕