พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 13)
พ.ศ.2541
____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2541"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 253 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 253 ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
(2) ค่าปลงศพ
(3) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
(4) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน"
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 257 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 257 บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้บัญญัติให้หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มให้ลูกจ้าง หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณีมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 253 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้าง โดยให้รวมความถึง สิทธิของเสมียน คนใช้ และคนงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 เดิมด้วย โดยกำหนดลำดับบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 257 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และจำนวนเงินสูงสุดของบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้