พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๑

ข่าวการเมือง Monday March 3, 2008 14:09 —ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘)

พ.ศ. ๒๕๕๑

______________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๑"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๐๒๐ บุคคลทุกคนเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสาร ฉบับใด ๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้

ผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท นั้นให้ก็ได้"

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๐๒๓ ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดื จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อน จดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน"

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๒๓/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "มาตรา ๑๐๒๓/๑ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา ๑๐๒๓ ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการมิได้"

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๐๙๗ บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้"

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกวรรคห้าของมาตรา ๑๑๑๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๑๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

"มาตรา ๑๑๑๑/๑ ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และจดทะเบียนบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวกันก็ได้

(๑) จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน

(๒) ประชุมจัดตั้งบริษัทเพื่อพิจารณากิจการต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๑๐๘ โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนให้ความเห็นชอบ ในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น

(๓) ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการ

(๔) กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นใช้เงินค่าหุ้นตามมาตรา ๑๑๑๐ วรรคสอง และเงินค่าหุ้นดังกล่าวได้ใช้เสร็จแล้ว"

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๑๗๕ คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าว เรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย"

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๑๙๔ การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติ ในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน"
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๒๐๔ การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย"
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๒๒๖ เมื่อบริษัทประสงค์จะลดทุน ต้องโฆษณาความประสงค์นั้นในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการซึ่งประสงค์จะลดทุนลงและขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใด ในการลดทุนนั้น ส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น
ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน ก็ให้พึงถือว่าไม่มีการคัดค้าน
ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการลดทุนลงไม่ได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว"
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๒๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(๔) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน"
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๒๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๒๔๐ บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่ง คำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าว"

มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกส่วนที่ ๑๑ การถอนทะเบียนบริษัทร้าง มาตรา ๑๒๔๖ ของหมวด ๔ ในลักษณะ ๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๑๒ การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด มาตรา ๑๒๔๖/๑ มาตรา ๑๒๔๖/๒ มาตรา ๑๒๔๖/๓ มาตรา ๑๒๔๖/๔ มาตรา ๑๒๔๖/๕ มาตรา ๑๒๔๖/๖ และมาตรา ๑๒๔๖/๗ ของหมวด ๔ ในลักษณะ ๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

"ส่วนที่ ๑๒

การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด

เป็นบริษัทจำกัด

______________

มาตรา ๑๒๔๖/๑ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ สามคนขึ้นไปอาจแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนและดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) แจ้งความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนที่จะให้แปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนให้ความยินยอม

(๒) ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนบอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะแปรสภาพ ห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการแปรสภาพเป็นบริษัท จำกัดนั้น ส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น

ถ้ามีการคัดค้าน ห้างหุ้นส่วนนั้นจะแปรสภาพมิได้จนกว่าจะได้ชำระหนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว

มาตรา ๑๒๔๖/๒ ในกรณีไม่มีการคัดค้านหรือมีการคัดค้านแต่ห้างหุ้นส่วนได้ชำระหนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องประชุมเพื่อให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ถ้ามี)

(๒) กำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัท ซึ่งต้องเท่ากับส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วน และกำหนดจำนวนหุ้นของบริษัทที่จะตกได้แก่หุ้นส่วนแต่ละคน

(๓) กำหนดจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วในแต่ละหุ้น ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้นที่ตั้งไว้

(๔) กำหนดจำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ รวมทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิของหุ้นซึ่งจะออกและจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน

(๕) แต่งตั้งกรรมการและกำหนดอำนาจของกรรมการ

(๖) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

(๗) ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นในการแปรสภาพ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับบริษัทจำกัดว่าด้วยการนั้น ๆ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๒๔๖/๓ หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมต้องส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชีเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนให้แก่คณะกรรมการบริษัท ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๒๔๖/๒ เสร็จสิ้นแล้ว

ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นหรือชำระเงินค่าหุ้นไม่ครบร้อยละยี่สิบห้า ของมูลค่าหุ้น หรือยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการ ให้คณะกรรมการบริษัทมีหนังสือแจ้งให้ผู้เป็นหุ้นส่วนชำระเงินค่าหุ้น โอนกรรมสิทธิ์ หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ แล้วแต่กรณี ให้แก่คณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

มาตรา ๑๒๔๖/๔ คณะกรรมการบริษัทต้องขอจดทะเบียนการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อนายทะเบียน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๒๔๖/๓ ครบถ้วนแล้ว

ในการขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด คณะกรรมการต้องยื่นรายงานการประชุม ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ร่วมกันพิจารณาให้ความยินยอมและดำเนินการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็น บริษัทจำกัดตามมาตรา ๑๒๔๖/๒ หนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับ และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พร้อมกับ การขอจดทะเบียนด้วย

มาตรา ๑๒๔๖/๕ เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิม หมดสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้นายทะเบียนหมายเหตุไว้ในทะเบียน

มาตรา ๑๒๔๖/๖ เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้ว บริษัทย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมทั้งหมด

มาตรา ๑๒๔๖/๗ เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้ว หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วน ในห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ตามที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน"

มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๑๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑) บอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อย หนึ่งคราวว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้แก่ ผู้ชำระบัญชี"

มาตรา ๑๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๖ การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง มาตรา ๑๒๗๓/๑ มาตรา ๑๒๗๓/๒ มาตรา ๑๒๗๓/๓ และมาตรา ๑๒๗๓/๔ ในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

"หมวด ๖

การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง

______________

มาตรา ๑๒๗๓/๑ เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียน มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทาง ไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น มาตรา ๑๒๗๓/๒ ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มี ตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และแจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่ วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น มาตรา ๑๒๗๓/๓ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา ๑๒๗๓/๑ หรือมาตรา ๑๒๗๓/๒ แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้น มีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพ นิติบุคคล

มาตรา ๑๒๗๓/๔ ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางมาตราสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชนและก่อให้เกิดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และความล่าช้าต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส่วนราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวและเพื่อให้การดำเนินกิจการค้าในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนและบริษัท มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ