พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 423) พ.ศ. 2547

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday October 11, 2004 12:18 —ประมวลรัษฎากร

                               พระราชกฤษฎีกา 
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 423)
พ.ศ. 2547
_________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2547
เป็นปีที่ 59 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกรณีที่มีการบริจาคหรือเข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2550
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 423 ) พ.ศ. 2547”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่บริจาคให้กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 แต่เมื่อรวมเงินบริจาคนั้นกับ เงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2550
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนเท่ากับเงินที่บริจาคให้กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรง ครองราชย์ปีที่ 50 หรือจำนวนเท่ากับค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
(2) สำหรับรายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ จำนวนเท่ากับเงินที่บริจาคให้กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 หรือจำนวนเท่ากับค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีบริจาคเงินให้กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ในปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2550
สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือรายได้ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 นั้น จะหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินอัตราไร่ละ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2549 หรือ พ.ศ. 2550 อันเป็นปีที่เริ่มปลูก ดังนี้
ปีที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท
ปีที่ 2 เป็นเงิน 500 บาท
ปีที่ 3 เป็นเงิน 500 บาท
การขอยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคสาม ต้องมีเอกสารหลักฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรสนับสนุนและจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ที่ได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินการต่อไปจนถึง พ.ศ. 2550 จึงสมควรกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ เอกชนที่ดำเนินการปลูกป่าเองเพื่อร่วมในโครงการดังกล่าว สำหรับค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2550 เช่นเดียวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ที่เคยกำหนดในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 317) พ.ศ. 2541 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ