พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๒)
พ.ศ.๒๕๔๐
__________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๒) พ.ศ.๒๕๔๐"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๔๗ ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด"
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๔๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๓๔
"ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้องอันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้ผู้จ่ายเงินได้รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกินไปหรือที่ชำระไว้ไม่ครบ และถ้าผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถือว่าเงินจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นภาษีอากรค้าง ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ผู้เงินได้พึงได้รับให้แจ้งผู้มีเงินได้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินที่เหลือนั้นคืนตามกฎหมาย"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี
_________________________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติให้ผู้มีเงินได้จากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีสามในเจ็ดส่วนของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับทุกกรณี ในขณะที่การประกอบกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิในกิจการต่างๆ ในอัตราที่แตกต่างกัน สมควรแก้ไขให้ผู้มีเงินได้จากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับการเสียภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอยู่หลายอัตราเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และสมควรกำหนดความรับผิดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ซึ่งแสดงข้อความในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง เพื่อให้การเครดิตภาษีเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
--ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๙ ก--
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๒)
พ.ศ.๒๕๔๐
__________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๒) พ.ศ.๒๕๔๐"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๔๗ ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด"
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๔๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ.๒๕๓๔
"ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้องอันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้ผู้จ่ายเงินได้รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกินไปหรือที่ชำระไว้ไม่ครบ และถ้าผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถือว่าเงินจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นภาษีอากรค้าง ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ผู้เงินได้พึงได้รับให้แจ้งผู้มีเงินได้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินที่เหลือนั้นคืนตามกฎหมาย"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี
_________________________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติให้ผู้มีเงินได้จากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีสามในเจ็ดส่วนของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับทุกกรณี ในขณะที่การประกอบกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิในกิจการต่างๆ ในอัตราที่แตกต่างกัน สมควรแก้ไขให้ผู้มีเงินได้จากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับการเสียภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีอยู่หลายอัตราเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และสมควรกำหนดความรับผิดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ซึ่งแสดงข้อความในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง เพื่อให้การเครดิตภาษีเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
--ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๙ ก--