พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 356)
พ.ศ.2542
______________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์บางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 356) พ.ศ.2542"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตาม
หมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือ บริษัทจำกัด
สำหรับมูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสาร ที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว
โอนกิจการบางส่วนให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะ
การโอนกิจการที่ได้กระทำภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือเนื่องจากประเทศไทยประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ
ทำให้ผู้ประกอบกิจการการขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือมีภาระหนี้สินจำนวนมาก อันส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว
ต้องล้มละลายหรือปิดกิจการลง และส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ดังนั้นเพื่อ
เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดย
การโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด สำหรับมูลค่าของ
ฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสาร ที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว โอนกิจการบางส่วน
ให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้เฉพาะการโอนกิจการที่ได้กระทำ
ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้