พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 370) พ.ศ.2543

ข่าวกฏหมายและประกาศ Sunday October 29, 2000 08:46 —ประมวลรัษฎากร

                                                พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 370)
พ.ศ.2543
____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2543
เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการดำเนินการนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพ
เป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาทุนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 81 (1) (น) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2543 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้
ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 340) พ.ศ.2543"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (12) ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 ซึ่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 347) พ.ศ.2542
"(12) การขายทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจอันเนื่องมาจากการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือ
บริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
_________________________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายตามแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในการแปรรูป
กิจการของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการของรัฐเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการให้บริการ อีกทั้งเป็นการลดภาระในการลงทุนของภาครัฐซึ่งการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจเป็นวิธีการหนึ่งในการปฏิบัติ
เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทดังกล่าว โดยหากรัฐบาลมีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจใดเปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยการ
เปลี่ยนแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทก็อาจดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่โดยที่ในการดำเนินการจะต้องมีการโอนทรัพย์สินใน
กิจการของรัฐวิสาหกิจให้แก่บริษัทอันเป็นการขายทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระภาษีแก่รัฐวิสาหกิจ สมควร
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐวิสาหกิจ สำหรับการขายทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการดำเนินการนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นใน
รูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ