กฎกระทรวง
ฉบับที่ 228 (พ.ศ.2544)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
__________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2596 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (32) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 192 (พ.ศ.2536) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(32) เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงเงิน
หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์"
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (55) และ (56) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวล
รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 227 (พ.ศ.2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การยกเว้นรัษฏากร
"(55) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) (2) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่ง
ลิขสิทธิ์ที่มิได้รับโอนมาโดยทางมรดก เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด
หลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
กรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน
บำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสม
ที่จายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญเข้าราชการต้องไม่เกิน 300,000 บาท
เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสาม ให้ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง
และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งมาแล้วด้วย
(56) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้
รับจากกองทุนรวมดังกล่าวเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพหรือ ตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด"
ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2544 เป็นต้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ลูกจ้างหรือข้าราชการสามารถออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ แต่การออมดังกล่าวยังมีวงเงินจำกัดไม่เป็นไปตามความต้องการของลูกจ้างหรือข้าราชการที่มีความสามารถ
ออมได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด และโดยที่ยังมีผู้มีเงินได้โดยทั่วไปซึ่งไม่สามารถออกเงินผ่านกองทุนดังกล่าวเนื่องจากไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิก
ของกองทุนทั้งสองได้ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการ
ออมเงินระยะยาวให้แก่ลูกจ้าง ข้าราชการ และผู้มีเงินได้โดยทั่วไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในสถาบันในตลาดทุนของไทยเพิ่มมากขึ้น
สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าทีได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนในกองทุนรวมดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับ
จากกองทุนรวมดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และสมควรกำหนดให้เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ
เนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพื่อทำให้ผู้ที่ไม่ออมเงินตาม
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกองทุนรวมดังกล่าวมีภาระต้องเสียภาษีเงินได้อันจะส่งผลทำให้มีการออมเงินผ่านกองทุนรวมนี้ในระยะยาว จึงจำเป็น
ต้องออกกฎกระทรวงนี้