พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 463) พ.ศ.2549

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday August 28, 2006 16:14 —ประมวลรัษฎากร

                                              พระราชกฤษฎีกา 
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 463)
พ.ศ.2549
________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2549
เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรให้แก่บุคคลตามข้อผูกพันในการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 463) พ.ศ.2549"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรให้แก่บุคคลตามข้อผูกพันในการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรให้แก่บุคคลตามข้อผูกพันในการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรเทาภาระภาษีซ้อน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ