กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 19, 2007 15:35 —พรบ.ประกันสังคม

                                   กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
พ.ศ. ๒๕๕๐
_____________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
ข้อ ๒ การอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือและอย่างน้อยต้องระบุ
(๑) วัน เดือน ปี
(๒) ชื่อและที่อยู่ของผู้อุทธรณ์
(๓) ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายจ้างหรือผู้ประกันตนสำหรับกรณีที่ผู้อุทธรณ์มิใช่นายจ้างหรือผู้ประกันตน
(๔) สถานประกอบกิจการของนายจ้างหรือสถานที่ทำงานของผู้ประกันตน
(๕) คำสั่งอันเป็นเหตุให้อุทธรณ์ พร้อมทั้งข้อเท็จจริง เหตุผล หรือข้อโต้แย้งที่ยกขึ้นอ้างอิงในคำอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง
(๖) ความประสงค์หรือคำขอของผู้อุทธรณ์
(๗) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ประสงค์จะยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นพร้อมคำอุทธรณ์
ข้อ ๓ คำอุทธรณ์ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสาขาของสำนักงานประกันสังคมดังกล่าวหรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้ ในกรณีที่ส่งคำอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
ให้ถือวันที่ทำการรับฝากซึ่งปรากฏในหลักฐานทางไปรษณีย์เป็นวันยื่นอุทธรณ์
ข้อ ๔ เมื่อได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๓ ออกหนังสือตอบรับอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ แล้วตรวจคำอุทธรณ์ในเบื้องต้น ถ้าเห็นว่าเป็นคำอุทธรณ์ที่สมบูรณ์ให้เสนอคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อพิจารณาโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าคำอุทธรณ์นั้นไม่สมบูรณ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแจ้งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขให้สมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่แก้ไขคำอุทธรณ์ให้สมบูรณ์ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้บันทึกไว้แล้วเสนอคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ ๕ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่อาจยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมคำอุทธรณ์ตามข้อ ๒ วรรคสองได้ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเติมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ โดยให้ทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุผลที่มิได้ยื่นเอกสารหลักฐานนั้นพร้อม
คำอุทธรณ์ และให้นำความในข้อ ๓ มาใช้บังคับแก่การยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเติมโดยอนุโลมเมื่อได้รับเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเติมต่อคณะกรรมการอุทธรณ์โดยเร็ว
ข้อ ๖ ก่อนที่คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ผู้อุทธรณ์อาจขอถอนคำอุทธรณ์ได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ และชี้แจงเหตุแห่งการขอถอนคำอุทธรณ์และให้นำความในข้อ ๓ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอถอนคำอุทธรณ์โดยอนุโลม
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐
อภัย จันทนจุลกะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ โดยให้ยื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประกันสังคมแห่งท้องที่อันเป็นที่ตั้งกิจการของนายจ้างสถานที่ทำงานหรือภูมิลำเนาของผู้ประกันตน หรือภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิอุทธรณ์อื่น ซึ่งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้อุทธรณ์ นอกจากนี้กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ การออกหนังสือตอบรับอุทธรณ์ การตรวจคำอุทธรณ์ การยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่มเติม และการถอนคำอุทธรณ์ ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อุทธรณ์ สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ