พระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตเทศบาลตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2549

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday September 15, 2006 15:32 —พรบ.ควบคุมอาคาร

                                              พระราชกฤษฎีกา 
ให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
บังคับในเขตเทศบาลตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว
อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
พ.ศ.2549
________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2549
เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตเทศบาล ตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตเทศบาลตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2549"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตเทศบาลตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในเขตเทศบาลตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีการขยายตัวทั้งในด้านการก่อสร้างอาคารและการผังเมือง สมควรให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในท้องที่ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในด้านการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ