โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบกับมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ ๗๙/๒๕๖๑ (๔๓) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑"
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
(๑) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐
(๒) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
(๓) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำเนินการใด ๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง
"การเลือกตั้ง" หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
"พรรคการเมือง" หมายความว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
"ผู้สมัคร" หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
"ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
"การหาเสียงเลือกตั้ง" หมายความว่า การแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิกจากชุมชน เพื่อให้ได้คะแนนโหวตให้แก่ตนเอง ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี
"เอกสาร" หมายความว่า กระดาษ สติ๊กเกอร์ หรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง
"วีดิทัศน์" หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉาย ให้เห็นเป็นภาพเพื่อใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง
"ผู้ช่วยหาเสียง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง
ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคล ที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
"เครื่องดื่ม" หมายความว่า น้ำหรือของเหลวทั้งหลายที่บุคคลสามารถดื่มเข้าสู่ร่างกายได้ แต่ไม่หมายความรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การหาเสียงเลือกตั้งที่กระทำขึ้น โดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนโดยทั่วไป
"ผู้ให้บริการ" หมายความว่า ผู้ที่ให้บริการในการเก็บรักษาข้อมูลเพื่อประโยชน์ของผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดและให้หมายความรวมถึงผู้ให้บริการตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
"ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด" ให้หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๕ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นคณะกรรมการอาจกำหนดยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้
หมวด ๑
วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ ๖ นอกจากการหาเสียงด้วยวิธีการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนี้
(๑) แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ต่าง ๆ หรืองานพิธีการต่าง ๆ โดยเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของเอกสารหรือวีดิทัศน์ด้วย
(๒) ใช้พาหนะต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายในสิบวันหลังจากปิดรับสมัครรับเลือกตั้งตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
(๓) ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง
(๔) ปิดประกาศการโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายการโฆษณาที่ยานพาหนะในการหาเสียงเลือกตั้งสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งกรณีนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับ การเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะเรื่องขนาด จำนวน สถานที่ และบุคคลที่ปรากฏในประกาศหรือแผ่นป้าย
ประกาศการโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาตามวรรคหนึ่ง สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าของประกาศการโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาด้วย
การปิดประกาศการโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายการโฆษณาที่ยานพาหนะที่ใช้ในการรับจ้างทั่วไปสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้ถือเป็นการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งและนับรวมค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย
(๕) หาเสียงเลือกตั้งผ่านจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๖) หาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหมวด ๒ การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
(๗) จัดทำเอกสารที่มีการกากบาทในช่องลงคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเองเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองได้ แต่การจัดทำเอกสารดังกล่าวต้องไม่มีขนาดลักษณะหรือสีที่คล้ายกับบัตรเลือกตั้ง
(๘) จัดให้มีผู้ช่วยหาเสียง เพื่อช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามหมวด ๓ ผู้ช่วยหาเสียง
ในกรณีการจัดทำเอกสาร วีดิทัศน์ประกาศการโฆษณาหรือแผ่นป้ายการโฆษณาเพื่อหาเสียงเลือกตั้งตาม (๑) หรือ (๔) นอกจากภาพของผู้สมัครแล้ว สามารถนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองลงโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้เท่านั้น
กรณีการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้แก้ไขภายในห้าวันนับแต่ วันที่มีการแจ้ง หากไม่ดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออกหรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น และคณะกรรมการอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนการไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาดได้
หมวด ๒
การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนที่ ๑
วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ ๗ ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบหรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลดำเนินการแทนได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) เว็บไซต์
(๒) โซเซียลมีเดีย
(๓) ยูทูป
(๔) แอปพลิเคชัน
(๕) อีเมล์
(๖) เอสเอ็มเอส
(๗) สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท
ข้อ ๘ การหาเสียงเลือกตั้งตามข้อ ๗ ให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด แล้วแต่กรณี สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของ พรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าด้วย
ส่วนที่ ๒
การแจ้งวิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ ๙ ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตั้งแต่วันสมัคร รับเลือกตั้งเป็นต้นไปหรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ในกรณีพรรคการเมืองจะดำเนินการการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งวิธีการรายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้เลขาธิการทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้งเป็นต้นไปหรือก่อนดำเนินการ หาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อประโยชน์ในการแจ้งวิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ตามส่วนนี้ คณะกรรมการอาจกำหนดวิธีการแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ส่วนที่ ๓
การหาเสียงเลือกตั้งโดยบุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ข้อ ๑๐ ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้บุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ประสงค์จะหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดแสดงชื่อและชื่อสกุล หรือชื่อนิติบุคคล หรืออาจแสดงชื่อย่อ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใดที่สามารถระบุเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้
สื่อที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องระบุชื่อและชื่อสกุลหรือชื่อนิติบุคคลของผู้จัดทำ
การแสดงตนและระบุข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง อาจกระทำในรูปแบบตัวอักษร ภาพ หรือเสียงก็ได้
ข้อ ๑๑ บุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายการค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ รวมแล้วเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ให้ผู้นั้นแจ้งค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมืองทราบ ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ ในกรณีพรรคการเมือง ให้แจ้งต่อเลขาธิการทราบ
(๑) ค่าจ้างจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
(๒) ค่าตอบแทนในการดำเนินการ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดเพื่อให้ผู้ใช้บริการเว็บไซต์ โซเซียลมีเดีย อีเมล์ โปรแกรมค้นหา หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น รับรู้ถึงการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งรายละเอียดตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดยินยอมหรือไม่คัดค้านการใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลที่มิได้เป็นผู้สมัครหรือมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ให้นับรวมรายการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย
ส่วนที่ ๔
การดำเนินการเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง
ข้อ ๑๓ เมื่อมีความปรากฏต่อคณะกรรมการว่า ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใดมีการกระทำ ที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือเป็นการต้องห้ามตามข้อ ๑๗ หรือข้อ ๑๘ วรรคหนึ่ง (๓) ให้คณะกรรมการสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใดที่กระทำการไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการ เพื่อปฏิบัติ ตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว
กรณีการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งดำเนินการแทนก็ได้ เมื่อกรรมการที่ได้รับมอบหมายออกคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เลขาธิการรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบโดยเร็ว
กรณีผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใดไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด ให้เลขาธิการแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และผู้ให้บริการเพื่อพิจารณาดำเนินการ หากมีค่าใช้จ่าย ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
การแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลไม่ลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว และสามารถนำมาเป็นเหตุให้คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาดได้
หมวด ๓
ผู้ช่วยหาเสียง
ข้อ ๑๔ ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดรวบรวมเอกสารที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งมานั้นรายงานต่อคณะกรรมการทราบด้วย
การยื่นเอกสารของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นเอกสารต่อเลขาธิการ
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียงตามวรรคหนึ่ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดหาเสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ในกรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง จะดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มิได้
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองดำเนินการแจ้งไม่เกินสามครั้งครั้งละไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น
ข้อ ๑๕ ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตเลือกตั้งจำนวนไม่เกินยี่สิบคนต่อเขตเลือกตั้ง
ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกินสิบเท่าของจำนวนเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ข้อ ๑๖ ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งเหตุการณ์นั้นให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองดำเนินการชี้แจงภายในระยะเวลาห้าวันนับแต่วันที่มีการแจ้ง
หมวด ๔
ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ ๑๗ ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับ การหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ ๑๘ ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง
กรณีตาม (๑) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง
(๒) แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
(๓) หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
(๔) ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่าง ๆ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
อิทธิพร บุญประคอง
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
--ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๖ ก--