พระราชบัญญัติ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๕๑
_____________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ ให้ใช้บังคับเมื่อกฎหมาย ว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลใช้บังคับ
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า
(๑) ธนาคารพาณิชย์
(๒) บริษัทเงินทุน
(๓) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(๔) นิติบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
"กองทุนการเงินระหว่างประเทศ" หมายความว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก
"ผู้ว่าการ" หมายความว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
"รองผู้ว่าการ" หมายความว่า รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
"พนักงาน" หมายความว่า พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย
"ลูกจ้าง" หมายความว่า ลูกจ้างธนาคารแห่งประเทศไทย
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้"
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกหมวด ๒ การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง มาตรา ๕ ถึงมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕
มาตรา ๕ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๒ การจัดตั้งและวัตถุประสงค์ มาตรา ๕ ถึง มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕