หมวด ๕
ผู้ว่าการ
_____________
มาตรา ๒๘/๑๓ ผู้ว่าการรับผิดชอบการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินการของ ธปท. ให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ กำหนด
ให้ผู้ว่าการเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้าง
มาตรา ๒๘/๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ว่าการ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในมาตรา ๒๘/๑ จำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเลขานุการ
การแต่งตั้งผู้ว่าการเพื่อดำรงตำแหน่งตามวาระ ให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคสองต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน
ในกรณีที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๘/๒ และมาตรา ๒๘/๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการคัดเลือก ตามวรรคสอง โดยอนุโลม
ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่ง เมื่อการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ว่าการเสร็จสิ้น
มาตรา ๒๘/๑๕ ผู้ว่าการต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร
มาตรา ๒๘/๑๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.
มาตรา ๒๘/๑๗ ผู้ว่าการต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง (๖) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (๗) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (๘) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ (๙) เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท. มาตรา ๒๘/๑๘ ผู้ว่าการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ทรงแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งได้อีกไม่เกินหนึ่งวาระ มาตรา ๒๘/๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๘/๑๘ แล้ว ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๘/๑๗ (๔) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ (๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
มาตรา ๒๘/๒๐ ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายในระยะเวลาสองปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๒๘/๒๑ ในกิจการของ ธปท. ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ ธปท. และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้พนักงานกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด
มาตรา ๒๙ ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ ในการกำหนดเงินเดือน ให้คำนึงถึงข้อห้ามการดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามมาตรา ๒๘/๒๐ ด้วย"
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคาร แห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๒๙ อัฏฐ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๒๙ ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๒) ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน
(๓) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและ สมควร
(๔) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร
(๕) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน
(๖) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน"
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๒๙ อัฏฐารส แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกหมวด ๖ ความสัมพันธ์กับรัฐบาล มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ หมวด ๗ เงินสำรองที่ธนาคารต้องดำรงไว้ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ หมวด ๘ การสอบและตรวจบัญชี มาตรา ๓๕ ถึงมาตรา ๓๗ หมวด ๙ บทเบ็ดเสร็จ มาตรา ๓๘ ถึงมาตรา ๔๑ และหมวด ๑๐ บทลงโทษ มาตรา ๔๒ ถึงมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕
มาตรา ๑๓ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๖ การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. มาตรา ๓๐ ถึงมาตรา ๔๕ หมวด ๗ การป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ปฏิบัติหน้าที่มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๔๘ หมวด ๘ การกำกับดูแล มาตรา ๔๙ ถึงมาตรา ๕๒ หมวด ๙ การบัญชี การตรวจสอบ การสอบบัญชี และการรายงาน มาตรา ๕๓ ถึงมาตรา ๖๑ และหมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๒ ถึงมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕