หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ
_____________
มาตรา ๖๒ ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจาก ธปท. ใช้คำว่า "ชาติ" "รัฐ" "ประเทศไทย" หรือ "กลาง" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือคำแสดงชื่อธนาคาร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลา ที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๖๓ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท
มาตรา ๖๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘/๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๕ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง
มาตรา ๖๖ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด เบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๗ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๘ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๙ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๐ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๑ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ ธปท. มอบหมายหรือตามข้อบังคับของ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๒ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จ่ายทรัพย์สิน จ่ายทรัพย์สินนั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๓ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๔ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดล่วงรู้กิจการของ ธปท. อันเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี มีมติให้สงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน ห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) การเปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี (๒) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (๓) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน (๔) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (๕) การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในประเทศและ ต่างประเทศ การเปิดเผยแก่ทางการหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแล หลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ หรือกำกับดูแลสถาบันการเงิน (๖) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
มาตรา ๗๕ ผู้ใดนอกจากบุคคลตามมาตรา ๗๔ รู้ความลับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ ธปท. ตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้ความลับดังกล่าว ซึ่งมิใช่เป็นการปฏิบัติการตามกฎหมายหรือตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
มาตรา ๑๔ ให้กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๕ ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนหกคนเสนอต่อรัฐมนตรี โดยให้พิจารณาคัดเลือกบุคคลคนหนึ่งจากบุคคลดังกล่าวเพื่อเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๒๘/๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม การนับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เป็นวาระแรก มาตรา ๑๖ ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ตามมาตรา ๒๘/๖ มาตรา ๒๘/๙ หรือมาตรา ๒๘/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ตามลำดับ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการ ระบบการชำระเงิน ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งอยู่ ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการดังกล่าว แล้วแต่กรณี ไปพลางก่อน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๗ ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่ผู้ว่าการ มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง หรือลาออก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดค่าชดเชยการเสียโอกาสจากข้อห้ามมิให้ประกอบอาชีพตามมาตรา ๒๘/๒๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แก่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา ๑๘ ให้มาตรา ๒๙ อัฏฐารส วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคาร แห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังคงใช้บังคับต่อไปแก่กรณี การประกันหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตามบทบัญญัติดังกล่าวแก่สถาบันการเงินที่กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๑๙ ภายในระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากใช้บังคับหากยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินใช้บังคับ แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและเป็นกรณีที่ได้มีการ ดำเนินการตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินอาจเสนอแนะแผน แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้นต่อคณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยต้องแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามแผน แนวทาง และวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิผลสูงสุดและเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อคณะกรรมการจัดการกองทุนพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ให้เสนอรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้ เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามความจำเป็นเร่งด่วน (๑) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีประกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (๒) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน (๓) ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของ สถาบันการเงิน ในกรณีที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน เพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจให้กู้ยืมเงินแก่กองทุน หรือรัฐบาลอาจค้ำประกันการกู้ยืมเงินของกองทุนก็ได้ ทั้งนี้ ให้กองทุนจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินการดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีอื่น ให้รัฐบาลใช้คืนเงินที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้กู้ยืมตามวรรคสาม ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าว ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้แก่กองทุน มาตรา ๒๐ ให้บรรดาประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับ ที่ออกตามความในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ออกตามความในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี