หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 8, 2001 13:40 —พรก.บริษัทบริหารสินทรัพย์

                                                      หมวด 4
การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
_______________________
มาตรา 53 ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้ บสท.มีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือจำหน่ายหนี้สูญ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันตามที่เห็นสมควร ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้มาใช้บังคับ
(1) มาตรา 237 มาตรา 700 มาตรา 1185 มาตรา 1220 มาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 มาตรา 1226 และมาตรา 1240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(2) มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 54 มาตรา 102 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง มาตรา 137 มาตรา 139 วรรคหนึ่ง มาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 147 มาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535
(3) มาตรา 114 และมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
มาตรา 54 เพื่อประโยชน์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บสท. จะพิจารณาจัดแบ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกเป็นกองสินทรัพย์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 55 เมื่อมีการจัดแบ่งกองสินทรัพย์แล้ว ให้ บสท.ดำเนินการบริหารกองสินทรัพย์ดังกล่าว โดย บสท.จะดำเนินการบริหารกองสินทรัพย์เอง หรือจะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้เป็นผู้บริหารกองสินทรัพย์แต่ละกองก็ได้ และ บสท.จะแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับกองสินทรัพย์แต่ละกองตามที่เห็นสมควรก็ได้
ผู้เชี่ยวชาญที่ บสท.จะจ้างให้เป็นผู้บริหารกองสินทรัพย์ ถ้าบุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคล ที่มีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนและไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจจัดการนิติบุคคล มีความสามารถที่จะทำได้ ให้พิจารณาจ้างบุคคลดังกล่าวเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ นิติบุคคลที่จะจ้างให้เป็นผู้บริหารกองสินทรัพย์ต้องไม่เป็นสถาบันการเงินที่โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ บสท.เว้นแต่จะรับบริหารกองสินทรัพย์โดยไม่คิดค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายใดๆ จาก บสท.และยอมปฏิบัติตนตามเงื่อนไขพิเศษที่คณะกรมการกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองลูกหนี้และเพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลุล่วงไปโดยเร็วตามพระราชกำหนดนี้
ความในวรรคสองไม่เป็นการตัดสิทธิสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ที่เป็นผู้บริหารกองสินทรัพย์จะคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่นที่เป็นเจ้าหนี้เดิมอยู่ด้วยตามอัตราส่วนแห่งหนี้ที่ตนเคยมีอยู่
มาตรา 56 เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองสินทรัพย์ ให้พนักงานของ บสท.หรือผู้บริหารกองสินทรัพย์จัดทำความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานะการเงินของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมทั้งข้อเสนอแนะว่าจะสมควรดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับโครงสร้างกิจการ หรือควรจำหน่ายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการต่อไปของลูกหนี้ ความสุจริต ความร่วมมือและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ประกอบกัน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริการ
ส่วนที่ 1
การปรับโครงสร้างหนี้
____________
มาตรา 57 การปรับโครงสร้างหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด และสามารถดำเนินการเดิมหรือเพิ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป
ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ บสท.มีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ลดเงินต้น ดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาที่จะคำนวณดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรือผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้อย่างอื่นให้แก่ลูกหนี้ และในกรณีที่เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมอย่างทัดเทียมกันและความรวดเร็ว จะผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการทั่วไปให้แก่ลูกหนี้ทั้งหมดหรือบางประเภทก็ได้
(2) แปลงหนี้ของลูกหนี้เป็นทุนในกิจการของลูกหนี้
(3) รับโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ หรือจำหน่ายทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องบางส่วนของลูกหนี้ดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก แต่ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะโอนหรือจำหน่ายไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแห่งหนี้ ต้องได้รับความยินยอมของลูกหนี้ก่อน
(4) รับโอนหุ้นหรือซื้อหุ้นเพิ่มทุนของลูกหนี้เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงกิจการของลูกหนี้
(5) ใช้มาตรการอื่นใดโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ
การดำเนินการตามวรรคสอง คณะกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ให้ บสท.ปฏิบัติก็ได้
ในการรับโอนหุ้นหรือเพิ่มทุนตาม (4) หรือใช้มาตรการที่ บสท.กำหนดตาม (5) ถ้าเป็นกรณีที่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้ต้องได้รับการอนุมัติหรือความเห็นชอบ หรือมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ทราบ ให้ถือว่าความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารเป็นการอนุมัติ เห็นชอบ รับทราบ หรือเป็นมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ตามกฎหมายหรือข้อบังคับดังกล่าวแล้ว
มาตรา 58 ถ้าลูกหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน ถ้าหาก ได้ให้ความร่วมมือกับ บสท.ในการปรับโครงสร้างหนี้ และได้มีการชำระหนี้ตามที่ได้ปรับโครงสร้างแล้วทั้งหมด ให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น
ในการปรับโครงสร้างหนี้ และผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ได้รับการผ่อนระยะเวลาการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ดำเนินการชำระหนี้ต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ บสท. กำหนดและในขณะใดขณะหนึ่ง ถ้าลูกหนี้ได้ให้หลักประกันอื่นตามสมควรแล้ว ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่นั้น การผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว บสท.อาจโอนหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นรับชำระหนี้ต่อไปก็ได้
ถ้าได้มีการชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะนำมาชำระหนี้ได้อีก หากผู้ค้ำประกันได้ยอมตนชำระหนี้ส่วนที่เหลือไม่น้อยกว่าสองในสามหรือในจำนวนที่น้อยกว่านั้น ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น
ถ้าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท.ในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ บสท.สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน ให้ บสท.ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว
ส่วนที่ 2
การปรับโครงสร้างกิจการ
____________
มาตรา 59 เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ บสท.จะดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ก็ได้
(1) ลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะมีบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันด้วยหรือไม่ก็ตาม
(2) บสท.เป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนหนี้เกินร้อยละห้าสิบของมูลหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ที่ปรากฎในงบดุลปีหลังสุดที่ลูกหนี้ยื่นต่อนายทะเบียน
(3) มีหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่ากิจการของลูกหนี้อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการต่อไปได้ หรือการดำเนินกิจการต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูหรือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และ
(4) ลูกหนี้ให้ความยินยอมหรือแสดงความจำนงเป็นหนังสือให้มีการปรับโครงสร้างกิจการ โดยยินยอมรับพันธะตามบทบัญญัติในส่วนนี้
การปรับโครงสร้างกิจการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผน การจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของลูกหนี้ ต้องเป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการประกอบกิจการของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด การดำเนินการใดๆ ที่มิใช่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะกระทำมิได้
การปรับโครงสร้างกิจการอาจกระทำก่อนหรือหลังการปรับโครงสร้างหนี้ หรือจัดทำเป็นแผนเดียวกันก็ได้
มาตรา 60 เมื่อคณะกรรมการบริหารอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้แล้ว ให้ บสท.ดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้โดยทันที
มาตรา 61 ในการปรับโครงสร้างกิจการ ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้จัดทำแผน และให้ผู้จัดทำแผนเสนอแผนต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ก่อนลงมือทำแผน ให้ผู้จัดทำแผนจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้จัดทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้อื่น โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้แต่ละรายตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่ทราบ และลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุม พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เจ้าหนี้จะต้องนำมาแสดง
มาตรา 62 แผนต้องมีรายละเอียดของรายการ วิธีการ และเป้าหมาย ระยะเวลาในการบริหารแผนและรายละเอียดอื่น ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด และต้องกำหนดความรับผิดของผู้บริหารแผนตามมาตรา 66 วรรคสามด้วย
ระยะเวลาในการบริหารแผนต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้บริหารแผนรับมอบกิจการจากผู้บริหารของลูกหนี้ ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการปรับโครงสร้างกิจการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์คณะกรรมการบริหารจะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการบริหารแผนต่อไปอีกได้ไม่เกินสามปี
ถ้าลูกหนี้เห็นว่าแผนที่เสนอต่อคณะกรรมการบริหารมิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ตามมาตรา 59 วรรคสอง ลูกหนี้มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขปรับปรุงแผนใหม่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ และในกรณีที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติแผนโดยมิได้ดำเนินการแก้ไขหรือในกรณีที่ลูกหนี้พบกรณีดังกล่าวเมื่อคณะกรรมการบริหารอนุมัติแผนแล้ว ให้ลูกหนี้อุทธรณืต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี วินิจฉัยสั่งการโดยเร็ว
มาตรา 63 เมื่อคณะกรรมการบริหารอนุมัติแผน หรือคณะกรรมการวินิจฉัยให้ความเห็นชอบแผนที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติ ตามมาตรา 62 แล้ว ให้ บสท.ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อพิจารณาแผนดังกล่าว
เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวเป็นการด่วนเพื่อพิจารณาแผน และถ้าเห็นสมควรให้มีการดำเนินการตามแผน ให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติแผน และให้ บสท.ลงโฆษณาคำสั่งนั้นในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน หากไม่เห็นชอบด้วย ให้มีคำสั่งยกคำร้องและแจ้งให้ บสท.ทราบ คำสั่งศาลให้เป็นที่สุด
การร้องขอต่อศาลตามมาตรานี้ ให้ บสท.ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง
มาตรา 64 ในการบริหารแผนให้ บสท.มีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ควบหรือรวมกิจการของลูกหนี้ เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของลูกหนี้
(2) ยุบเลิกกิจการบางส่วนของลูกหนี้
(3) ดำเนินการเพื่อให้เจ้าหนี้อื่นของลูกหนี้ซึ่งเข้าร่วมในการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ได้รับชำระหนี้
(4) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
มาตรา 65 ถ้าผู้จัดทำแผนเสนอให้มีการควบหรือรวมกิจการของลูกหนี้ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจ ให้คณะกรรมการบริหารเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่ออนุมัติให้มีการดำเนินการควบหรือรวมกิจการได้ ทั้งนี้ มิให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทหมวด 4 ส่วนที่ 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทบัญญัติในหมวด 12 การควบบริษัท แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว
ถ้าการดำเนินการตามวรรคหนึ่งมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการแข่งขันโดยเสรี ประโยชน์ของผู้บริโภค หรือการพัฒนาภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนและให้ บสท.ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 66 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุมัติแผนแล้ว ให้ บสท.แต่งตั้งผู้บริหารแผนและผู้กำกับดูแลการบริหารแผน และลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
ในกรณีที่ลูกหนี้ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของ บสท.และไม่ปรากฎพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารของลูกหนี้กระทำการใดอันไม่สุจริต ให้ บสท.ดำเนินการให้ผู้จัดทำแผนปรึกษาหารือกับผู้บริหารของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และพิจารณาแต่งตั้งให้ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนที่จัดทำขึ้น ทั้งนี้ ภายในความกำกับดูแลของบุคคล ซึ่ง บสท.แต่งตั้งตามเงื่อนไขที่ บสท.กำหนด
ในกรณีที่ผู้จัดทำแผนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผน ถ้าการบริหารกิจการตามแผนที่ได้กำหนดขึ้นไม่เป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผน ผู้บริหารแผนต้องรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในแผน
ในกรณีที่ผู้จัดทำแผนเป็นนิติบุคคล ถ้าประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษาหรือพนักงานของนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลอื่นที่นิติบุคคลผู้จัดทำแผนหรือบุคคลดังกล่าว ถือหุ้นอยู่แต่ระลายหรือหลายรายรวมกันตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผน ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้จัดทำแผนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนตามวรรคสาม
มาตรา 67 เมื่อคณะกรรมการบริหารแต่งตั้งผู้บริหารแผนแล้ว ให้ผู้บริหารของลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน และกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารแผนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริหารแผน เพื่อการนี้ ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจเรียกให้ผู้ครอบครองส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารข้างต้นแก่ตนได้ด้วย
มาตรา 68 เมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 67 แล้ว ให้ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นอันหมดอำนาจในการกระทำกิจการใดๆ ในนามของลูกหนี้ โดยให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการบริหารจัดการ ทั้งปวงที่เป็นของผู้บริหารของลูกหนี้เสมือนหนึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้
ให้ผู้บริหารของลูกหนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งตลอดระยะเวลาของการบริหารแผน แต่ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ ในนามหรือเป็นการผูกพันลูกหนี้ และไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนใดๆ
ผู้บริหารของลูกหนี้มีสิทธิตั้งผู้แทนเพื่อทำหน้าที่ติดตามการทำงานของผู้บริหารแผน แต่จะกระทำการใดเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของผู้บริหารแผนไม่ได้ และต้องให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกตามที่ผู้บริหารแผนร้องขอ ในกรณีที่ผู้แทนดังกล่าวขัดขวาง ไม่ช่วยเหลือหรือไม่อำนวยความสะดวก โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้บริหารแผนโดยความเห็นชอบของ บสท.จะสั่งห้ามไม่ให้ผู้แทนดังกล่าวเข้ามาในที่ทำการหรือสถานที่อันอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ และขอให้มีการตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนก็ได้ ในระหว่างที่ยังไม่มีตัวแทนดังกล่าว ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บริหารแผนที่จะบริหารแผนต่อไป
มาตรา 69 ในระหว่างระยะเวลาของการบริหารแผน นอกจากอำนาจในการบริหารจัดการตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งแล้ว ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผน ให้ผู้บริหารแผนโดยอนุมัติของ บสท.มีอำนาจ
(1) ลดทุน เพิ่มทุน หรือจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน
(2) ปรับปรุงแก้ไขการบริหารงาน
(3) แต่งตั้งหรือถอดถอนพนักงานของลูกหนี้ทุกระดับ
(4) ดำเนินการควบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้
(5) โอนสิทธิตามสัญญา โอนหลักประกัน หรือโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น
(6) ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็น เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก บสท.แล้ว
การกระทำใดตามวรรคหนึ่ง หากมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีมติหรือมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ถือว่าการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารเป็นมติหรือมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การดำเนินการนั้นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ หรือแจ้งให้เจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นใดทราบก่อน มิให้นำกฎหมายเช่นว่านั้นมาใช้บังคับ แต่ผู้บริหารแผนต้องลงโฆษณาการดำเนินการนั้นในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
มาตรา 70 ในกรณีที่ผู้กำกับดูแลการบริหารแผนหรือผู้แทนของผู้บริหารของลูกหนี้ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 68 เห็นว่า ผู้บริหารแผนมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผน หรือกระทำการใดอันจะเป็นการเสียหายต่อลูกหนี้หรือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างกิจการ ให้มีสิทธิทักท้วงเป็นหนังสือต่อผู้บริหารแผน โดยระบุพฤติกรรมแห่งการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งการทักท้วงนั้น
ให้ผู้บริหารแผนพิจารณาคำทักท้วงโดยปรึกษาหารือร่วมกันกับผู้กำกับดูแลการบริหารแผนและผู้แทนของผู้บริหารของลูกหนี้ ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้เสนอเรื่องให้ บสท.วินิจฉัย คำวินิจฉัย ของ บสท.ให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ บสท.เห็นว่าคำทักท้วงของผู้กำกับดูแลการบริหารแผนหรือผู้แทนผู้บริหารของลูกหนี้มีเหตุผลอันสมควร และการให้ผู้บริหารแผนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายต่อการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ ให้ บสท.ดำเนินการให้มีการถอดถอนผู้บริหารแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนใหม่
ผู้บริหารแผนที่ถูกถอดถอนตามวรรคสอง ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าชดเชยใดๆ ไม่ว่าจะมีระบุไว้ในสัญญาตั้งผู้บริหารแผนหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิ บสท.ที่จะเรียกค่าเสียหายจากผู้บริหารแผน ค่าเสียหายที่เรียกได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายของ บสท.ตามที่ บสท.กำหนดแล้ว ให้จ่ายชดเชยให้แก่ลูกหนี้
มาตรา 71 นับแต่มีคำสั่งศาลตามมาตรา 63 อนุมัติแผนจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ยุติการปรับโครงสร้างกิจการ
(1) ให้ศาลระงับการพิจารณาคดีที่มีผู้ฟ้องลูกหนี้สำหรับสิทธิเรียกร้องใดต่อศาลไว้ก่อน จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการบริหารแผน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นการตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะยื่นขอรับชำระหนี้จากผู้บริหารแผน
(2) ห้ามมิให้มีการเลิกหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
(3) ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจาก บสท.
(4) มิให้ถือว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอันจะเป็นมูลเหตุในการขอฟื้นฟูกิจการหรือฟ้องคดีล้มละลายตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(5) ให้ระงับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นหลักประกันแห่งหนี้หรือไม่ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้มีการบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
(6) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกฃ่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้และผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ คณะกรรมการจะอนุญาตให้ดำเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวตามที่เห็นสมควรก็ได้
(7) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อการดำเนินกิจการตามปกติของลูกหนี้ดังกล่าวสามารถดำเนินต่อไปได้
(8) บรรดาคำสั่งที่ใช้บังคับวิธีการชั่วคราวของศาล ไม่ว่าจะเป็นการยึด อายัด ห้ามจำหนาย จ่าย โอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ที่มีอยู่ก่อนวันที่มีการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาให้แก่ บสท.ให้ศาลระงับผลบังคับไว้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ บสท.ร้องขอ
(9) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้
การดำเนินการใดอันเป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้เป็นโมฆะ
ข้อห้ามตามวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับกับการดำเนินการของ บสท.และผู้บริหารแผน
มาตรา 72 เมื่อผู้บริหารแผนหรือผู้กำกับดูแลการบริหารแผนเห็นว่า เงื่อนไขใดๆ ที่กำหนดไว้ในการบริหารแผนมิได้เกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ หรือการบริหารแผนต่อไปจะทำให้เกิดหนี้สินแก่ลูกหนี้มากขึ้น หรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้การปรับโครงสร้างกิจการไม่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ให้รายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริหารโดยเร็ว
เมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของผู้บริหารแผนหรือผู้กำกับดูแลการบริหารแผน ให้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการเพื่อยุติการปรับโครงสร้างกิจการ และดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ลูกหนี้เห็นชอบด้วย ให้ดำเนินการเลิกกิจการของลูกหนี้และขายทรัพย์สินทั้งปวงเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ บสท.ในกรณีนี้ เมื่อ บสท.ได้รับชำระหนี้เท่าใด ให้หนี้ที่เหลือเป็นอันพับกันไป และให้บุคคลซึ่งค้ำประกันหนี้ดังกล่าวไว้เป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกัน
(2) ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่เห็นชอบด้วยตาม (1) ให้ บสท.ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันล้มละลาย และให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเด็ดขาดทันทีโดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน
มาตรา 73 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามแผน หรือการปรับโครงสร้างกิจการแล้วเสร็จ สุดแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน ให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันในหนี้รายนั้นเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง เว้นแต่บรรดาหนี้ที่ บสท.เห็นว่าควรผ่อนระยะเวลาให้ลูกหนี้ชำระต่อไปภายหลังจากระยะเวลาดังกล่าว ในกรณีเช่นนั้น คงให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกันที่ทำไว้เดิม
ส่วนที่ 3
การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
มาตรา 74 ในกรณีที่ บสท.ประสงค์จะบังคับจำนองหรือบังคับจำนำกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้ บสท.มีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้และผู้จำนองหรือผู้จำนำชำระหนี้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว โดยจะต้องระบุด้วยว่าหากบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด บสท.จะบังคับชำระหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้
มาตรา 75 ถ้าลูกหนี้ ผู้จำนอง หรือผู้จำนำ ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 74 ให้ บสท.มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้
มาตรา 76 ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท.ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท.เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นใด หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้
มาตรา 77 การจำหน่ายทรัพย์สินตามมาตรา 76 ให้ บสท.ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวัน ที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
การประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ผู้จำนอง ผู้จำนำ ผู้ค้ำประกัน และบุคคลซึ่งมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้น
มาตรา 78 บุคคลใดมีข้อต่อสู้เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะจำหน่าย ให้ยื่นคำคัดค้านและชี้แจงเหตุผลในการคัดค้าน พร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ บสท. ก่อนวันจำหน่ายทรัพย์สินไม่น้อยกว่าสามวันทำการ
ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาคำคัดค้านตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลสมควร ให้คณะกรรมการบริหารสั่งยุติการจำหน่ายทรัพย์สินไว้ก่อนจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินที่จะจำหน่ายให้เสร็จสิ้น แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีเหตุผลสมควร ให้สั่งยกคำคัดค้านพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบและดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นต่อไป
เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าบุคคลตามมาตรา 77 วรรคสอง ซึ่งมิได้ยื่นคำคัดค้าน ได้ให้ความยินยอมการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นแล้ว
มาตรา 79 ผู้เสียหายจากการจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการบริหารได้ยกคำคัดค้านตามมาตรา 78 อาจเรียกร้องให้ บสท.ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินได้หากพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นดีกว่าลูกหนี้ ผู้จำลอง หรือผู้จำนำ และไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้
การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เสียหายยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น
มาตรา 80 เงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สิน ให้ บสท. หักค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายทรัพย์สินได้ก่อนที่จะชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับ บสท.
ถ้ามีเงินคงเหลือสุทธิเท่าใด ให้ส่งคืนให้แก่ลูกหนี้ ผู้จำนอง หรือผู้จำนำ แล้วแต่กรณี แต่ถ้ายังมีหนี้ที่ทรัพย์สินนั้นเป็นหลักประกันคงค้างอยู่เท่าใด ให้นำความในมาตรา 58 วรรคสาม มาใช้บังคับกับหนี้ที่ยังคงค้างอยู่นั้นด้วย โดยอนุโลม
มาตรา 81 ในกรณีที่มีการจำหน่ายทรัพย์สินหรือ บสท.รับโอนทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 แล้ว
(1) สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตหรือ บสท.ไม่เสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของลูกหนี้
(2) ห้ามมิให้บุคคลใดขอหักกลบลบหนี้ที่มีอยู่กับลูกหนี้จากจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น
มาตรา 82 การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ