หมวด 2 คณะกรรมการและการบริการ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 8, 2001 13:09 —พรก.บริษัทบริหารสินทรัพย์

                                           หมวดที่ 2
คณะกรรมการและกรรมการบริหาร
_________________________
มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมกาคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย" ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง กรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบเอ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหนึ่งคน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหนึ่งคน สมาคมธนาคารไทยหนึ่งคน และประธานกรรมการบริหารเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการก็ได้
มาตรา 13 ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการ
(1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นข้าราชการการเมือง หรือเป็นผู้มีตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
(4) เป็นหรือเคยเป็นลูกหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและยังไม่พ้นสิบปีนับแต่สถานะเช่นนั้นยุติลง
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
มาตรา 14 กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละหกปี
ในวาระเริ่มแรกเมื่อกรรมการดำรงตำแหน่งครบสามปี ให้ออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่ง โดยวิธีจับสลาก ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นกึ่งหนึ่งไม่ได้ ให้ออกโดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดแต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา 15 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
(4) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13
มาตรา 16 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานชั่วคราว
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 17 กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้แจ้งการมีส่วนได้เสียของตนให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าก่อนการประชุม และห้ามมิให้ผู้นั้นเข้าร่วมประชุมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
มาตรา 18 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ บสท.ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของบสท.
(2) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน ทรัพย์สิน และการบัญชี รวมทั้งการตรวจสอบและสอบบัญชีภายในของ บสท.
(3) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานและการดำเนินกิจการของ บสท.
(4) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น
(5) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
(6) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับรู้และคำนวณผลกำไรหรือผลขาดทุนของการบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของ บสท.
(7) พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณของ บสท.
(8) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการเพื่อดำเนินการใดๆ แทนคณะกรรมการ
(9) ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการบริหารงานหรือดำเนินกิจการของ บสท.
มาตรา 19 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริหารอื่นอีกไม่เกินสามคน และให้กรรมการผู้จัดการเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง
ในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร ให้กระทรวงการคลังเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งสองคน ธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนฟื้นฟู สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอชื่อหน่วยงานละหนึ่งคน และสถาบันการเงินเอกชนร่วมกันเสนอชื่อสองคนผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13
มาตรา 20 ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการบริหารจากรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอตามมาตรา 19 โดยจะต้องแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ประธานกรรมการบริหารหนึ่งคน ให้แต่งตั้งจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนฟื้นฟู
(2) กรรมการบริหารอื่น
(ก) ให้แต่งตั้งจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนฟื้นฟูหนึ่งคน
(ข) ให้แต่งตั้งจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหนึ่งคน และ
(ค) ให้แต่งตั้งจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสถาบันการเงินเอกชนหนึ่งคน
ให้กรรมการบริหารที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และให้นำบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา 15 มาตรา 16 และมาตรา 17 มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ และการประชุมของคณะกรรมการบริหารด้วยโดยอนุโลม
นอกจากประธานกรรมการบริหารซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรรมการ จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารหรือกรรมการผู้จัดการในเวลาเดียวกันมิได้
การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการให้เป็นไปตามมาตรา 21
มาตรา 21 ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกผู้ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในกิจการของ บสท.เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
กรรมการผู้จัดการตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 แล้วต้องไม่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือกรรมการของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่ บสท.ตามพระราชกำหนดนี้ และต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลใด
การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดเงื่อนไขอื่นในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงาน และการประเมินผลการทำงานในหน้าที่กรรมการผู้จัดการให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการกำหนดโดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างคณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสองคราวติดต่อกัน
ในการว่าจ้างกรรมการผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในนามของ บสท.
มาตรา 22 ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ ตลอดจนกำหนดกรอบและวิธีการในการบริหารงานตามนโยบายของคณะกรรมการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) อนุมัติหรือวินิจฉัยสั่งการในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน การชำระบัญชีของลูกหนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(2) ติดตามและประเมินผลการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและการดำเนินงานทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย กรอบและวิธีการที่วางไว้
(3) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการใด ๆ แทนคณะกรรมการบริหาร
(4) อนุมัติการแต่งตั้งพนักงานระดับบริหาร
(5) ว่าจ้างบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
(6) จัดให้มีระบบข้อมูลและจัดหาข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง
(7) จัดหาแหล่งเงินทุนและพันธมิตรร่วมทุน เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้
(8) รายงานผลการดำเนินงานในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อคณะกรรมการ ทุกรอบสามเดือน
(9) รับผิดชอบและดำเนินการต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ
มาตรา 23 ให้กรรมการผู้จัดการรับผิดชอบในการบริหารงานของ บสท. และมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนดในระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ รวมทั้งปฏิบัติการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหาร
มาตรา 24 ให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของ บสท.และมีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
มาตรา 25 ในกิจการของ บสท.ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้แทนของ บสท.และเพื่อการนี้ กรรมการผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานหรือลูกจ้างของ บสท.กระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 26 เพื่อประโยชน์แก่การกำกับควบคุมและการตรวจสอบกิจการภายในของ บสท.ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบไม่เกินห้าคน เพื่อตรวจสอบการดำเนินกิจการของ บสท.และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา 27 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร กรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ กรรมการตรวจสอบ ที่ปรึกษาและอนุกรรมการ ได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 28 ให้บุคคลตามมาตรา 27 ตลอดจนพนักงานและลูกจ้างของ บสท.ซึ่งดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของตน เมื่อได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีฝ่าฝืนกฎหมาย ทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มาตรา 29 การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารรวมตลอดทั้งกรรมการผู้จัดการ ต้องคำนึงถึงความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ต้นทุนในการดำเนินการของ บสท. ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่สุจริต และการเสริมสร้างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเริ่มต้นประกอบกิจการใหม่ หรือประกอบกิจการเดิมต่อไปเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวม
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และนอกจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในพระราชกำหนดนี้แล้ว การโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของ บสท. ให้แก่บุคคลใดหรือรับโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของบุคคลใดมาเป็นของ บสท. การที่ บสท.มีรายได้จากการใดๆ หรือการดำเนินการของ บสท.ก่อให้เกิดรายได้แก่บุคคลใด อันมิได้มีลักษณะเป็นเงินเดือน ค่าจ้างหรือรายได้อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด ถ้ามีกฎหมาย เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศใดๆ กำหนดให้ต้องเสียภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ ให้ บสท.และบุคคลดังกล่าว ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือค่าฤชาธรรมเนียมนั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ