พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 พ.ศ.2544

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday September 25, 2001 08:41 —พรก.บริษัทบริหารสินทรัพย์

                                                พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544
พ.ศ.2544
____________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 48มาตรา 50 และมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 พ.ศ.2544"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 45 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ในกรณีสถาบันการเงินเป็นผู้โอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และในกรณีบริษัทบริหารสินทรัยพ์เป็นผู้โอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ในเรื่องการประเมินมูลค่าหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะรับโอน ในกรณีของที่ดินให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมที่ดิน ซึ่งมิได้มีราคาประเมินตามหลักราคาตลาดเป็นรายแปลงของที่ดินทุกแปลง การจะขอให้กรมที่ดินประเมินราคาที่ดินตามหลักการดังกล่าวของแต่ละแปลงต้องใช้เวลามาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ อันเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินต้องเนิ่นช้าออกไป และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและโดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันไว้ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติอยู่แล้ว จึงสมควรใช้หลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทยมาใช้บังคับแทนจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ