พระราชกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
พ.ศ. 2544
___________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544"
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้
"สถาบันการเงิน" หมายความว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่รวมถึงสาขาของธนาคารต่างประเทศ
(2) บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และให้หมายความรวมถึงบริษัทเงินทุนที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย
(3) นิติบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
"บริษัทบริหารสินทรัพย์" หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
"สินทรัพย์" หมายความว่า สิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงินที่มีต่อลูกหนี้ของตน ในมูลหนี้อันเกิดจากการให้สินเชื่อ การให้กู้ยืมเงิน หรือการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน และสิทธิเรียกร้องในลักษณะดังกล่าวที่บริษัทบริหารสินทรัพย์รับโอนมาจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
"สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ" หมายความว่า สินทรัพย์มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หรือเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
"กองสินทรัพย์" หมายความว่า กองสินทรัพย์ที่มีการจัดแบ่งตามมาตรา 54
"กองทุนฟื้นฟู" หมายความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย
"แผน" หมายความว่า แผนปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้
"ผู้บริหารของลูกหนี้" ในกรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หมายความว่า คณะกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และรวมตลอดถึงที่ปรึกษาและพนักงานที่คณะกรรมการดังกล่าวเป็นผู้แต่งตั้งการดำเนินงานของบริษัทนั้น และในกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หมายความว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
"กรรมการผู้จัดการ" หมายความว่า กรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้