หมวด 5
การกำกับ การดำเนินงานและการควบคุม
_________________
มาตรา ๘๓ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ บสท.เพื่อการนี้ มีอำนาจสั่งให้ บสท.ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของ บสท. ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี
เพื่อประโยชน์แก่การกำกับการดำเนินงานของ บสท.รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของ บสท. ได้ ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแต่งตั้งพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลอื่นให้ดำเนินการก็ได้
ให้พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งตามวรรคสอง นอกจากจะมีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้ว ให้มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) เข้าไปในสถานที่ทำการของ บสท. หรือในสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของ บสท.ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด ในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์ และหนี้สินของ บสท.รวมทั้งเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับ บสท.
(๒) เข้าไปตรวจสอบฐานะการดำเนินงานในสถานที่ทำการของลูกหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งสั้งให้ลูกหนี้หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
มาตรา ๘๔ ห้ามมิให้ บสท.เข้าทำสัญญาหรือกระทำการใดอันมีผลให้ บสท.ไม่อาจเปิดเผยข้อมูลใดๆ ต่อสาธารณะ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความลับทางการค้าของลูกหนี้
ข้อความในสัญญาหรือการกระทำใดที่มีผลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นโมฆะ
สัญญาใดๆ ที่มีข้อห้ามระหว่างคู่สัญญาไม่ให้มีการเปิดเผยข้อความในสัญญาหรือข้อมูลอื่นใด เว้นแต่ข้อมูลอันมีลักษณะเป็นความลับทางการค้า ไม่มีผลบังคับกับ บสท. หรือการเปิดเผยต่อ บสท.
มาตรา ๘๕ ในกรณีที่กองทุนฟื้นฟูได้รับความเสียหาย เนื่องจากการที่ต้องลงทุนในการจัดตั้งหรือดำเนินกิจการของ บสท. การค้ำประกันหรือรับรองหรือรับอาวัลตราสารที่ บสท.ออก หรือเนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ยแทน บสท. ให้กระทรวงการคลังชดเชยให้กองทุนฟื้นฟูเท่าจำนวนที่เสียหายภายในเวลาที่กระทรวงการคลังเห็นว่ากองทุนฟื้นฟูมีความจำเป็น เว้นแต่ฐานะโดยรวมของกองทุนฟื้นฟูอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว แต่ในกรณีที่กองทุนฟื้นฟูได้กำไรจากการดังกล่าว ให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามจำนวนที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๘๖ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ บสท. อาจขอทราบชื่อและจำนวนหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย หรือกิจการของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ในการนี้ มิให้นำมาตรา ๔๖ สัตต แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.๒๕๒๒ แล้วแต่กรณีมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยรายละเอียดของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวให้แก่ บสท.