พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
พ.ศ. ๒๕๕๐
____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “การบริหารสินทรัพย์” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““การบริหารสินทรัพย์” หมายความว่า
(๑) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมา
บริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป
(๒) การรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น
(๓) กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจการทำนองเดียวกันตาม (๑) หรือ (๒)หรือทั้งสองประการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔/๑ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
“มาตรา ๔/๑ บริษัทบริหารสินทรัพย์จะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้เมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(๑) รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น
(๒) รับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้นการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขด้วยก็ได้”
มาตรา ๕ ให้แก้ไขคำว่า “สินทรัพย์ของสถาบันการเงิน” ในมาตรา ๖ และคำว่า “สินทรัพย์จากสถาบันการเงิน” ในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็น “สินทรัพย์”
มาตรา ๖ ให้แก้ไขคำว่า “บริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงิน” ในมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็น “บริษัทบริหารสินทรัพย์และผู้โอน”
มาตรา ๗ ให้แก้ไขคำว่า “สินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน” ในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็น “สินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๑ บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องจัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง โดยต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด”
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
“มาตรา ๑๑/๑ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์จัดทำงบการเงินรายงาน หรือข้อมูล ไม่ว่าในรูปสื่อใด ๆ หรือแสดงเอกสารใด ตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และให้ชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งงบการเงิน รายงานข้อมูล หรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกำหนดเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
งบการเงิน รายงาน ข้อมูล เอกสาร หรือคำชี้แจงที่ส่งหรือแสดงตามวรรคหนึ่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องทำให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริง ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่างบการเงิน รายงาน ข้อมูล เอกสาร หรือคำชี้แจงดังกล่าวมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงหรือมีข้อความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าจำเป็นหรือสมควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ โดยให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นเป็น
ผู้รับภาระค่าใช้จ่าย”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๒ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
“ในกรณีที่เห็นว่าเหตุที่ปรากฏตามวรรคหนึ่งไม่มีความร้ายแรง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ แทนการสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ได้ และในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
ดังกล่าว ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับด้วย”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒/๑ มาตรา ๑๒/๒ มาตรา ๑๒/๓ มาตรา ๑๒/๔ และมาตรา ๑๒/๕ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
“มาตรา ๑๒/๑ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทบริหารสินทรัพย์
มาตรา ๑๒/๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใดในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบกิจการ
การดำเนินงาน สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทบริหารสินทรัพย์
(๒) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทที่รับดำเนินกิจการหนึ่งกิจการใดแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบริษัทที่รับดำเนินกิจการหนึ่งกิจการใดแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใดในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบในสถานที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์
(๓) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดีซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันในการออกคำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวจะต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และสิทธิของผู้ถูกยึดหรืออายัดนั้น
(๔) สั่งให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้สอบบัญชีของบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้รับดำเนินกิจการหนึ่งกิจการใดแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใด มาให้ถ้อยคำหรือส่งหรือแสดงสมุดบัญชีเอกสาร ดวงตราหรือหลักฐานอื่นเกี่ยวกับกิจการ การดำเนินงาน สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทบริหารสินทรัพย์
(๕) สั่งให้บุคคลใดซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) หรือ (๒) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้
การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ดำเนินการตรวจสอบ โดยการดำเนินการตาม (๒) ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน และการดำเนินการตาม (๔) และ (๕) ต้องกำหนดระยะเวลาอันสมควรที่จะให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้
มาตรา ๑๒/๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา ๑๒/๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
มาตรา ๑๒/๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๓ บริษัทบริหารสินทรัพย์ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔/๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือคำสั่งหรือเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๔/๑ วรรคสอง มาตรา ๕ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง กรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการ
กระทำความผิดของบริษัทบริหารสินทรัพย์นั้นด้วย”
มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔/๑ มาตรา ๑๔/๒ มาตรา ๑๔/๓ และมาตรา ๑๔/๔ แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑
“มาตรา ๑๔/๑ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔/๒ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔/๓ ความผิดตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔/๑ และมาตรา ๑๔/๒ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคนโดยอย่างน้อยต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหนึ่งคน
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป
มาตรา ๑๔/๔ ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔/๑ และมาตรา ๑๔/๒ ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๔/๓ ภายในสองปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดและรายงานให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ หรือ
ภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินทำให้มีสินทรัพย์ดังกล่าวตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถรับซื้อ รับโอน และรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้