พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2539

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday October 14, 1996 10:09 —Prevention and Suppression of Prostitution Act

           พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2539
เป็นปีที่ 51 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"การค้าประเวณี" หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเราหรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (หน้า 2/13) ไปที่หน้า:
"สถานการค้าประเวณี" หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณี และให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการค้าประเวณีด้วย
"สถานแรกรับ" หมายความว่า สถานที่ที่ทางราชการจัดให้มีขึ้นหรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อรับผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อพิจารณาวิธีการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
"สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ" หมายความว่า สถานที่ที่ทางราชกาจัดให้มีขึ้น หรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้น เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาอาชีพแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
"การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ" หมายความว่า การอบรมฟื้นฟูจิตใจการบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพหรือกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือนร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 6 ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำเพราะถูกบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
มาตรา 7 ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะ ในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน สิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึง หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดย มิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด
มาตรา 9 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่า การกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ หมื่นบาทถึงสองแสนบาทถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุ กว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาทถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุ ยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับ ตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาทถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณีผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี
มาตรา 10 ผู้ใดเป็นบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบแปดปีรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต่อผู้อยู่ในความปกครองของตน และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 11 ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาทถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีบุคคลซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาทถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 12 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยว กักขัง กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายหรือทำร้ายร่างกาย หรือขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น เพื่อข่มขืนใจให้ผู้อื่นนั้นกระทำการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) ได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใดสนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ในสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 13 ถ้าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 7 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีคำขอ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้นั้นเสีย และแต่งตั้งผู้ปกครองแทนบิดา มารดา หรือผู้ปกครองนั้นในกรณีที่ศาลจะตั้งผู้ปกครองตามวรรคหนึ่ง และศาลเห็นว่าไม่มีผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้กระทำความผิด ศาลจะตั้งผู้อำนวยการสถานแรกรับหรือผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่ผู้กระทำความผิดนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เป็นผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดก็ได้ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครอง มาใช้บังคับกับการตั้งผู้ปกครองตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการศึกษา นอกโรงเรียน อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือรองอธิบดีหรือรองเลขาธิการซึ่งอธิบดีหรือเลขาธิการดังกล่าวข้างต้นมอบหมาย ผู้แทนศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานในองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี
มาตรา 15 ให้ ก.ค.อ. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ค้าประเวณี
(2) ประสานแผนงาน โครงการ ระบบงาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(3) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือแผนงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(4) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และการจัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของทางราชการ
(5) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(6) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามมาตรา 26
(7) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการวางระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(8) วางระเบียบเกี่ยวกับการรับตัวและดูแลผู้ถูกควบคุมตามมาตรา 32
(9) วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวบุคคลไปยังสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาในการรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(10) ดำเนินการอื่นในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 16 ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. จังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ปลัดจังหวัดหรือผู้แทน จัดหางานจังหวัดหรือผู้แทน หัวหน้าตำรวจจังหวัดหรือผู้แทนพัฒนาการจังหวัดหรือผู้แทน ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน สามัญศึกษาจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดหรือผู้แทน สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน แรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดหรือผู้แทน อัยการจังหวัดหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และให้ประชาสงเคราะห์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานในองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี
(ต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ